ปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ ส่งผลทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต้องลดการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านและหันไปเลือกทำกิจกรรมภายในบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกปรับปรุงบ้านและที่พักอาศัยให้น่าอยู่เหมาะกับการใช้เวลาอยู่อาศัยส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ความต้องการสินค้าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างรวมถึงสีทาบ้านในตลาดขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่จำนวนสินค้าในตลาดยังมีไม่เพียงพอ เนื่องจากปัญหาในระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกจากภาวะการแพร่ระบาด

Mr. Jeff Frasty ตำแหน่งประธานบริษัท Florida Paints กล่าวว่า การขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิตสีทาบ้านเป็นปัญหาสำคัญที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งในขณะนี้บริษัทกำลังเร่งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม

จากข้อมูลสถิติค้าปลีกโดยสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ (U.S.  Census Bureau) ระบุว่า นับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยอดจำหน่ายปลีกสินค้าสีทาบ้านและวอลล์เปเปอร์ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายมีมูลค่าทั้งสิ้น 1.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ยอดจำหน่ายปลีกจะมีแนวโน้มหดตัวลงเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาด โดยล่าสุด ยอดจำหน่ายปลีกสินค้าสีทาบ้านและวอลล์เปเปอร์ในสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บริษัท Sherwin-Williams Co. และบริษัท PPG Industries Inc. ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าสีทาบ้านรายใหญ่ในสหรัฐฯ กล่าวว่า ปัญหาด้านการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าจากปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทานส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการขยายตัวของกิจการ

Ms. Julie Young ตำแหน่าง Vice President of Global Corporate Communication บริษัท Sherwin-Williams กล่าวว่า การผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการขาดแคลนสินค้าวัตถุดิบประกอบกับการขยายตัวของความต้องการสินค้าสำหรับการปรับปรุงตกแต่งอาคารและที่พักอาศัยในตลาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบทำให้ขาดแคลนสินค้าในตลาดและทำให้ราคาจำหน่ายปลีกในตลาดปรับตัวสูงขึ้น

Mr. Tony Piloseno ตัวแทนบริษัท Florida Paints กล่าวว่า การผลิตสีจำเป็นจะต้องควบคุมการใช้เม็ดสี (Pigment) ในปริมาณที่แน่นอนเที่ยงตรงเพื่อให้ได้สีตรงตามที่ต้องการ ดังนั้น การขาดแคลนเม็ดสีและวัตถุดิบในการผลิตสีบางรายการอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดได้

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนสินค้าในตลาดยังส่งผลกระทบทำให้ราคาจำหน่ายสินค้าปลีกสีทาบ้านในตลาดปรับตัวสูงขึ้นด้วย ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Labor Statistics) พบว่าดัชนีราคาผลิตสินค้าสีและสารเคลือบ (Producer Prices Index for Painting and Coating Manufacturing) เดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 350.13 หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับดัชนีราคาสินค้าทั่วไป (Producer Price Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2553

Mr. Dan Murad ตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท the ChemQuest Group Inc. คาดว่า หากปราศจากผลกระทบอื่นในตลาดแนวโน้มการขาดแคลนสินค้าสีทาบ้านในสหรัฐฯ จะปรับตัวดีขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้หรือไตรมาสที่ 1 ในปีหน้า

บทวิเคราะห์: ตลาดสินค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต้องหยุดอยู่บ้านมากขึ้นตามนโยบายการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้หันไปเลือกปรับปรุงดูแลบ้านพักซึ่งกลายเป็นสถานที่ซึ่งชาวอเมริกันส่วนใหญ่ใช้ชีวิตมากที่สุดในแต่ละวัน นอกจากนี้ นโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดยังทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงส่งเสริมให้ชาวอเมริกันตัดสินใจซื้อบ้านและย้ายออกไปอยู่ตามชานเมืองมากขึ้น

การทาสีหรือเปลี่ยนสีบ้านหรือที่พักอาศัยเป็นแนวทางการปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในกลุ่มชาวอเมริกันมาก เนื่องจากสามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว ประหยัด และให้ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงทันที ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีความต้องการซื้อสีทาบ้านเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าสหรัฐฯ จะสามารถผลิตสีได้เองภายในประเทศแต่การแพร่ระบาดยังส่งผลกระทบห่วงโซ่การผลิต ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าจึงต้องอาศัยพึ่งพาการนำเข้าสีทาบ้านจากผู้ผลิตในต่างประเทศมากขึ้น โดยในปี 2564 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าสีทาบ้านมีมูลค่าทั้งสิ้น 141.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 43.10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ แคนาดา (ร้อยละ 33.45) อิตาลี (ร้อยละ 12.35) เยอรมนี (ร้อยละ 9.87) เม็กซิโก (ร้อยละ 9.72) และเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 7.30) ตามลำดับ ในส่วนการนำเข้าจากไทยมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเนื่องจากผลิตภัณฑ์สีทาบ้านมีน้ำหนักค่อนข้างมากซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการขนส่งระยะทางไกล ทำให้ผู้ประกอบการไทยจึงมักจะเน้นการทำตลาดส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในทวีปเอเชียเป็นหลัก เช่น เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และมาเลเซีย เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขาดแคลนสีทาบ้านและวัสดุสำหรับผลิตสีทาบ้านในตลาดสหรัฐฯ ดังกล่าวเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยขยายตลาดส่งออกสินค้าสีทาบ้านรวมถึงกลุ่มสินค้าอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องสำหรับการผลิตสีทาบ้าน และอุปกรณ์ใช้สำหรับทาบ้าน เช่น บรรจุภัณฑ์กระป๋องพลาสติกและสังกะสี ที่คนผสมสี แปรงทาสี ลูกกลิ้งฟองน้ำทาสี และแผ่นผ้าใบปูรอง เป็นต้น อีกทั้ง แนวโน้มความนิยมปรับปรุงบ้านพักอาศัยของชาวอเมริกันในขณะนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอุปกรณ์ก่อสร้างและตกแต่งบ้าน รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านรายการอื่นด้วย เช่น อุปกรณ์สำหรับเจาะ กล่องบรรจุพลาสติก ลวด เชือก เบาะที่นอน โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าสีทาบ้านสำเร็จรูปไปยังตลาดสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย เนื่องจากสภาพการแข่งขันในตลาดที่ค่อนข้างสูง สหรัฐฯ มีผู้ประกอบการรายใหญ่ครอบครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้ง ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มักจะนิยมจำหน่ายสีทาบ้านในลักษณะสีพื้นขาว (Based Acrylic or Vinyl) แล้วนำมาผสมเม็ดสีตามที่ลูกค้าต้องการภายหลังที่ศูนย์จำหน่ายสีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและประหยัดพื้นที่คงคลังจัดเก็บสินค้า ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถจำหน่ายสินค้าสีทาบ้านโดยแบ่งเป็นสีพื้นและเม็ดสีได้จะช่วยให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งออกในตลาดสหรัฐฯ ได้

นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้บริโภคชาวอเมริกันบางส่วนยังมักจะให้ความสำคัญและเลือกบริโภคสินค้าปลอดสารเคมีและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์สีทาบ้าน เช่น  แบรนด์ “BioShield” แบรนด์ “Clare” แบรนด์ “Ecos Paints” แบรนด์ “Safecoat” และแบรนด์ “Milk Paint” เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มสินค้าผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดดังกล่าวด้วย เนื่องจากตลาดยังมีการอัตราการแข่งขันไม่สูงมากนัก อีกทั้ง สินค้าเองยังมีราคาจำหน่ายปลีกสูงกว่าสีทาบ้านทั่วไปราว 2 – 3 เท่าด้วย โดยมีราคาจำหน่ายเฉลี่ยประมาณ 75 – 125 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อแกลลอนเทียบกับสีทาภายในทั่วไปซึ่งมีราคาเฉลี่ยประมาณ 25 – 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อแกลลอนเท่านั้น

ในภาพรวมแม้ว่าแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดสหรัฐฯ อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ รวมถึงความต้องการซื้อสินค้าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างอยู่บ้างแต่คาดว่าตลาดสินค้าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างในสหรัฐฯ จะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปจนกระทั่งสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า ทำให้สหรัฐฯ ยังถือว่าเป็นตลาดศักยภาพและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกต่อไป

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (กุมภาพันธ์ 2565)
สำนักข่าว CNBC

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2