บริษัทผู้ผลิตสินค้าทั้งหลายต่างใช้ผลประโยชน์จากความอ่อนไหวของผู้บริโภคที่มีต่อเรื่องของสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม โดยการติดฉลาก Carbon Neutral บนผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า ผลิตภัณฑ์มีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญส่งสัญญาณเตือนผู้บริโภคว่าฉลากจำนวนมากเหล่านี้อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดการเข้าใจผิดได้ โดย Test Achats หรือ Test Aankoop องค์กรเพื่อผู้บริโภคที่ไม่แสวงหากำไรของเบลเยียม ซึ่งส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค และ Carbon Market Watch ซึ่งเป็นกลุ่ม Climate Think Thank ได้แสดงความเห็นและข้อโต้แย้งว่า การติดฉลากของผู้ผลิตจำนวนมากที่ต้องการสร้างแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ด้วยโลโก้ Carbon Neutral เพื่อระบุว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดได้รับการชดเชยนั้น เป็นการฟอกเขียว (Greenwashing) เนื่องจากข้อความหรือการติดฉลากดังกล่าวไม่สามารถยืนยันหรือพิสูจน์ความจริงได้


ข้อความหรือคำกล่าวอ้างที่พบบนผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ ได้แก่ Carbon Neutral, Climate Neutral, Net Zero, 100% Carbon Offset เป็นต้น ซึ่งมักทำให้ผู้บริโภคสับสน โดยผู้เชี่ยวชาญได้ทำการศึกษาผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต 13 รายการ อาทิ กาแฟ ชีส และน้ำดื่มบรรจุขวด ที่กล่าวอ้างว่าเป็น Carbon Neutral โดยระบุผลลัพธ์ยืนยันว่ายังห่างไกลจากความน่าเชื่อถือในเรื่อง Climate Neutrality โดยเป็นการกล่าวอ้างที่ได้มาจากการซื้อคาร์บอนเครดิต ซึ่งบริษัทผู้ผลิตจะบริจาคให้กับโครงการทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวอย่างเช่น กล้วย แบรนด์ Chiquita ที่กล่าวอ้างว่า กล้วยของบริษัทมีความเป็นกลางทางคาร์บอนผ่านคาร์บอนเครดิตจากโครงการพลังงานลมในประเทศคอสตาริกา แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าพลังงานลมสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทั้งหมดหรือไม่อย่างไร และบริษัทก็ยังมีความคลุมเครือว่าการปล่อยก๊าซใดที่จะถูกชดเชย ซึ่งไม่เพียงแต่ประสิทธิภาพของคาร์บอนเครดิตยังไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่ก็ยังไม่มีมาตรฐานยุโรปที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผลิตภัณฑ์สองชนิดที่ติดฉลาก Carbon Neutral แบบเดียวกันอาจมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมแตกต่างกันมากได้


เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบ Directive on Empowering Consumers for the Green Transition ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มสิทธิของผู้บริโภคและคุ้มครองผู้บริโภค ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ไม่ใช่ Greenwashing โดยในอนาคตจะอนุญาตให้ใช้เฉพาะฉลากความยั่งยืนที่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ หรือมีการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายรับรอง หรือจัดตั้งโดยหน่วยงานของรัฐเท่านั้น


หากผู้ประกอบการที่ต้องการทำการตลาด โฆษณา หรือกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะต้องคำนึงวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง และจะต้องมีระบบการตรวจสอบ สามารถพิสูจน์ได้และได้รับการรับรองว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานและมีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างจริง เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าใจและเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง ไม่ใช่เป็นเพียงการ Greenwashing


ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัยหรือคำถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารทางการค้าได้ที่ https://ditp-overseas.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก