It is a long established fact that a reader will be distracted by the readable content of a page when looking at its layout.
ประธานาธิบดีแอลจีเรีย (นาย Abdelmadjid Tebboune) ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีคำสั่งให้ระงับภาษีและอากรสำหรับสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะภาษีตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายการเงินปี 2565 ว่าด้วยอาหารบางชนิด โดยให้ยกเลิกภาษีในทันทีจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ประธานาธิบดี Tebboune ยังได้สั่งให้ยกเลิกภาษีและอากรทั้งหมดเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ โทรศัพท์มือถือส่วนบุคคล อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และสตาร์ทอัพ โดยให้มีการควบคุมราคาอย่างเหมาะสม พร้อมได้สั่งการให้รัฐบาลดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากราคาสินค้าหลายรายการในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศ
นอกจากนี้ ยังให้มีการประสานงานระหว่างกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานด้านความมั่นคงในการควบคุมการลักลอบการนำเข้าสินค้าอาหารอุปโภคบริโภคตามแนวชายแดน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดและเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับราคาอาหารในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลแอลจีเรียรับประกันที่จะครอบคลุมส่วนต่างของราคาของผลิตภัณฑ์อาหารที่กำหนดโดยสำนักงานธัญพืชสากลแห่งแอลจีเรีย โดยคำนึงถึงราคาระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนในประเทศ นอกจากนี้ ยังให้เพิ่มการอุดหนุนในภาคเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา รวมทั้งการยกเลิกข้อจำกัดสำหรับโครงการลงทุนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การสร้างงานใหม่ 2,680 ตำแหน่งในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และภาคบริการของประเทศ
ความคิดเห็น
รัฐบาลแอลจีเรียโดยการนำของประธานาธิบดึ Tebboune มีนโยบายชัดเจนในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนจากภาวะราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการยกเว้นภาษีอากรสำหรับสินค้าจำเป็นหลายรายการ รวมทั้งเพิ่มการอุดหนุนในภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคของประชาชนในประเทศ
แอลจีเรียเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ลำดับที่ 5 ของไทยในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ รองจากอียิปต์ ลิเบีย โมร็อกโก และตูนีเซีย ด้วยมูลค่าการส่งออกในปี 2564 จำนวน 63.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (ร้อยละ 21) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (ร้อยละ 14.4) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (ร้อยละ 10.6) และผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 7) ในขณะที่ แอลจีเรียเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าลำดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ รองจากลิเบีย โดยสินค้านำเข้าหลักของไทยจากแอลจีเรีย ได้แก่ น้ำมันดิบ ด้วยมูลค่า 578 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากแอลจีเรีย
การยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นของรัฐบาลแอลจีเรีย น่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่จะช่วยลดภาระด้านภาษีและเพิ่มยอดจำหน่ายได้สูงขึ้นท่ามกลางกระแสภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลกจากภาวะต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น
ปัจจุบันแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญของแอลจีเรีย ได้แก่ จีน (ร้อยละ 18) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 9.3) อิตาลี (ร้อยละ 8.1) เยอรมนี (ร้อยละ 7) สเปน (ร้อยละ 6.8) และตุรกี (ร้อยละ 4.5) โดยในส่วนของไทยแอลจีเรียนำเข้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.28 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ดังนั้น แอลจีเรียจึงเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภค/บริโภค เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตในแอลจีเรียยังมีค่อนข้างจำกัด อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้แอลจีเรียจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศเป็นหลัก
ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร (กุมภาพันธ์ 2565)
_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e
#DITP #OMD2 #สพต2