ในปัจจุบัน หลายประเทศประสบปัญหาประชากรน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และโรคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ป่วยและคนข้างเคียงเดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการจึงเป็นกลยุทธ์ป้องกันที่สำคัญ ฉลากบรรจุภัณฑ์จึงถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อสื่อสารและให้ความรู้แก่ผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา จึงเตรียมบังคับใช้ระเบียบการติดฉลากโภชนาการบนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ ในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีน้ำตาล โซเดียม หรือไขมันสูง โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป มีระยะเวลาอนุโลมให้ผู้ประกอบการดำเนินการปรับเปลี่ยนฉลากให้ถูกต้องได้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2569 ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าอาหารไทยไปยังแคนาดา จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลกับผู้นำเข้าและดำเนินการปรับเปลี่ยนข้อมูลบรรจุภัณฑ์ให้ทันตามกำหนด
ทั้งนี้ การกำหนดให้ผู้ประกอบการติดฉลากตราสัญลักษณ์แว่นขยายบนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถระบุอาหารที่เลือกซื้อ และพิจารณาระดับน้ำตาล โซเดียม ไขมัน ได้อย่างรวดเร็ว และจะต้องแสดงตราสัญลักษณ์แว่นขยายบนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ หากเข้าข่ายต่อไปนี้
• ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปทั่วไป (General Prepackaged Food) ที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมเท่ากับหรือเกินกว่าร้อยละ 15 ของปริมาณที่เหมาะสมต่อการรับประทานแต่ละวัน เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป ซุปปรุงสำเร็จรูป ขนมหวานแช่แข็ง
• ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผู้บริโภครับประทานในปริมาณน้อยต่อครั้ง (โดยปริมาณ Serving 30 กรัม หรือ 30 มิลลิลิตรต่อครั้ง) เช่น ผักดอง น้ำสลัดผัก ขนมคุกกี้ อาหารเช้าซีเรียล จึงกำหนดเกณฑ์ปริมาณไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมเท่ากับหรือเกินกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณที่เหมาะสมต่อการรับประทานในแต่ละวัน
• ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน (Prepackaged Meal) ที่มีปริมาณ 200 กรัมขึ้นไป (หรือ 170 กรัม สำหรับอาหารเด็กอายุ 1-4 ปี) เช่นพาสต้าแช่แข็ง พายเนื้อ พิซซ่า กำหนดเกณฑ์ให้มีปริมาณไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียม เท่ากับ หรือเกินกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณที่เหมาะสมต่อการรับประทานในแต่ละวัน
และมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นการติดฉลากโภชนาการบนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ อีก 3 ประเภทคือ
1. ข้อยกเว้นจากด้านประโยชน์ของสารอาหารในผลิตภัณฑ์ (Health-Related Exemption) เช่น ผักและผลไม้ทั้งผล หรือแบบตัด แบบสด แช่แข็ง และตากแห้ง, นมสด 2% หรือนมเต็มมันเนย (Whole Milk), ไข่ไก่, อาหารที่เป็นไขมันดีเช่น น้ำมันพืช ถั่ว ปลาที่มีไขมันสูง, ชีสและโยเกิร์ตธรรมชาติ (Plain Yogurt)
2. ข้อยกเว้นจากผลิตภัณฑ์เฉพาะอย่าง (Technical Exemption) ได้แก่ เนื้อสัตว์แบบทั้งชิ้น เช่น เนื้อวัว, เนื้อแกะ, และแบบทั้งตัวเช่นเนื้อไก่ และเนื้อปลา, เนื้อสัตว์บด, ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้จำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง และบรรจุในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กเช่น ครีมสำหรับกาแฟ 1 หน่วยบริโภค (Single Serving) ช็อคโกแล็ตบาร์ขนาดเล็ก (Mini)
3. ข้อยกเว้นจากองค์ประกอบการใช้งานของผลิตภัณฑ์ (Practical Exemption) เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง เมเปิ้ลไซรัป, เกลือธรรมชาติ เกลือปรุงรส, เนยและผลิตภัณฑ์จากไขมันอื่นๆ, น้ำมันพืช
ทั้งนี้ การติดฉลากตราสัญลักษณ์แว่นขยายบนด้านหน้าบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนเพิ่มเติมจากฉลากโภชนาการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ข้อมูลโภชนาการอาหารแบบละเอียดยังคงต้องปรากฎอยู่บนด้านหลังของผลิตภัณฑ์เช่นเดิม
ที่มาข้อมูล: ข่าวเด่นรายสัปดาห์: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ (2-8 ก.ค. 2565)