
ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวเวียดนามหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยหันมาบริโภคสินค้าเท่าที่จำเป็น นิยมสินค้าที่สามารถใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และแยกประเภทของขยะก่อนทิ้งเพื่อรีไซเคิล เพื่อมุ่งสู่วิถีชีวิตแบบยั่งยืน และสาเหตุที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคชาวเวียดนามเปลี่ยนไปเนื่องจากเวียดนามมีเป้าหมายที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2588 และลดการปล่อยมลพิษเป็น 0 ภายในปี 2593 ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้ผู้ประกอบการภายในประเทศหลายแห่งเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ทันกับกระแส ความต้องการของผู้บริโภค
ผู้ประกอบการเวียดนามได้มีการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ โดยการใช้ใบตองห่อผักและผลไม้ ใช้ขวดแก้ว ใช้หลอดและถ้วยที่ทำจากไม้ไผ่หรือกระดาษ และใช้ถุงผ้าทดแทนการใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก อีกทั้งทางรัฐบาลเวียดนามได้มีการสนับสนุนในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นผลให้นิคมอุตสาหกรรมในเมืองไฮฟอง มีการปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นสวนสาธารณะกว่า 40% ในส่วนของของเสีย จากโรงงานทั้งหมดได้รับการบำบัดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และตรวจสอบโดยอัตโนมัติตลอดเวลา เพื่อให้แน่ใจว่าระบบนิเวศสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับ BCG ถือเป็น ข้อได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดเวียดนาม เพราะสินค้าไทยกลุ่ม BCG ส่วนใหญ่ผ่านการยอมรับ ในความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและบริการ มุ่งเน้นการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่และการผลิตโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมและมนุษย์เป็นหลัก จึงไม่ใช่เรื่องยาก หากผู้ประกอบการไทยมีความต้องการผลักดันสินค้าไทยซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมออกไปสู่ตลาดเวียดนาม
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าได้ที่ https://ditp-overseas.com
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย