จากสถานการณ์วิกฤตพลังงานและวิกฤตเงินเฟ้อส่งผลให้ชาวเบลเยียมต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องมาจากเบลเยียมนับเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤตการณ์นี้ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องการลดการใช้พลังงานก๊าซ พลังงานไฟฟ้า และพลังน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐบาลจึงต้องจัดเตรียมนโยบายและมาตรการเพื่อรับมือกับวิกฤตดังกล่าว เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้สามารถต่อสู้กับราคาพลังงานที่พุ่งสูงและค่าครองชีพที่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา


จากการประชุมของรัฐบาลกลางเบลเยียมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการปรับลดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิม 21 % เป็น 6 % สำหรับค่าพลังงานก๊าซและไฟฟ้าควบคู่ไปกับการปฏิรูปภาษีสรรพสามิต โดยจะเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป ซึ่งการปรับลดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการปฏิรูป ภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องได้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว


โดยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีสรรพสามิตดังกล่าว เน้นย้ำถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างการใช้พลังงานขั้นพื้นฐานและการใช้พลังงงานแบบขายส่ง ซึ่งหากราคาพลังงานมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รายได้ส่วนนั้นที่เกิดมาจะถูกหักออกจากอัตราการ ใช้พลังงานขั้นพื้นฐานผ่านภาษีสรรพสามิต โดยจะอ้างอิงตามค่าเฉลี่ยราคารายวันสำหรับการจ่ายไฟฟ้า รวมไปถึง จะมีการพิจารณเงื่อนไขและรายละเอียดอย่างถี่ถ้วน เพื่อเป็นการปกป้องผู้บริโภค เนื่องจาก การลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 6 % ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมากสำหรับ การเงินสาธารณะ


อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน แต่ทางรัฐบาลได้มีการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตควบคู่กันไปเพื่อชดเชยและถ่วงดุลให้เกิดความสมดุล ด้านงบประมาณ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของทางรัฐบาล เบลเยียม จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ การลงทุนในส่วนของภาคเอกชน การขยายตัวของตลาดผู้บริโภค และการค้าระหว่างประเทศมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัย หรือข้อซักถาม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าได้ที่ https://ditip-overseas.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก