เมื่อมองลังกระดาษที่บริษัท Procter & Gamble (หรือ P&G) นำเสนอต่อ Lidl และ Kaufland แบบผ่าน ๆ ย่อมดูไม่แตกต่างหรือหวือหวาอะไรมากนัก แต่หากพิจารณาลงลึกในรายละเอียดของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตลังนี้ ย่อมสร้างเสียงฮือฮาและความตื่นเต้นให้แก่สาธารณชนได้ไม่มากก็น้อย เพราะเป็นวัตถุดิบชนิดใหม่ที่ได้มาจากต้น Silphium Perfoliatum ซึ่งเป็นพืชวงศ์ทานตะวันนั่นเอง การพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกนี้ขึ้นมานั้น เป็นผลมาจากความร่วมมือของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ ได้แก่ บริษัท P&G และบริษัท Schwarz Gruppe ซึ่งต้องการที่จะพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่มีความยั่งยืนขึ้นมา การร่วมตัวผลิตลังชนิดนี้ขึ้นมาย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่อน เพราะสะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้กำจัดขยะ ต่างก็พยายามที่จะหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจากข้อมูลของกรมสิ่งแวดล้อม (Umweltbundesamt) ของเยอรมนี   ได้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเยอรมนีผลิตขยะพลาสติกสูงถึง 6.3 ล้านตัน/ปี ซึ่งกว่าครึ่งของขยะดังกล่าว เป็นขยะบรรจุภัณฑ์แทบทั้งสิ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการจะยังคงใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ต่อไป ก็ยิ่งต้องใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบในการผลิตมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย โดยเมื่อขยะพลาสติกเหล่านี้หลุดออกไปอยู่ตามธรรมชาติก็ต้องใช้ระยะเวลาหลายสิบปีกว่าที่จะย่อยสลายได้

หนังสือพิมพ์ Handelsblatt จึงได้ตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกในปัจจุบันว่ามาจากแหล่งใดกันบ้าง โดยพบว่า แม้การปฏิเสธที่จะใช้พลาสติกในการผลิตบรรจุภัณฑ์ถือเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่กระแสการด้อยค่าพลาสติก (Plastic Bashing) นั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัทต่าง ๆ รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Henkel, Beiersdorf และ L’Oréal ที่ตั้งเป้าหมายคล้าย ๆ กันว่า ภายในปี 2025 บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัทฯ จะต้องสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% และต้องใช้พลาสติกใหม่ในการผลิตลดลงกว่าครึ่งของปริมาณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นบริษัทฯ เหล่านี้จึงได้หันมากใช้กระดาษในการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์แทน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท L’Oréal เริ่มจำหน่ายครีมกันแดดที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นกระดาษลัง, บริษัท Henkel ผู้ผลิตสินค้ายี่ห้อ Persil ก็ได้ส่ง “Eco Power Bars” ซึ่งเป็นผงซักฟอกแบบก้อนที่มีรูปแบบเป็นตัวเลโก้ที่บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษออกสู่ตลาด อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังคงมีสินค้าในท้องตลาดอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้ใช้วัสดุทดแทนพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์

นาง Astrid Teckentrup ผู้บริหารของบริษัท P&G เยอรมนี ได้ออกมาเปิดเผยว่า “เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะไม่ใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์เลย เพราะพลาสติกมีคุณลักษณะพิเศษที่เหมาะสมต่อการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ แต่อย่างไรก็ดี บริษัท P&G ก็เห็นว่า ผู้ประกอบการรวมถึง P&G เอง ก็ควรที่จะลดการผลิตพลาสติกลง และควรหันมาใช้วัตถุดิบรีไซเคิลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” โดย P&G วางแผนที่จะลดการใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ลง 3 แสนตันภายในปี 2030

ด้านนาย Sven Sägerlaub ศาสตราจารย์ด้านเทคนิคและการผลิตบรรจุภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย Hochschule München ให้ความเห็นว่า ปัญหาในเวลานี้ คือ พลาสติกรีไซเคิลที่มีคุณภาพในท้องตลาดนั้นยังมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการ และในเวลานี้หลาย ๆ บริษัทได้เริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตพลาสติกแบบยั่งยืนมากขึ้น และภาคอุตสาหกรรมเองก็เร่งหาวัตถุดิบชนิดอื่น ๆ เพื่อทดแทนพลาสติกกันขนานใหญ่ จึงทำให้เกิดการแข่งขันและช่วงชิงวัตถุดิบรีไซเคิลอย่างดุเดือด และเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยากว่า เมื่ออะไรก็ตามที่อยู่ในภาวะขาดตลาด ก็ย่อมมีราคาปรับตัวแพงขึ้น จึงทำให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคต่าง ๆ  ต้องใช้เงินจำนวนมากไปกับการซื้อพลาสติกรีไซเคิลนั่นเอง และเมื่อพลาสติกรีไซเคิลอยู่ในภาวะขาดแคลน ก็ทำให้บริษัทจำเป็นต้องใช้พลาสติกแบบเดิมเข้าไปในบรรจุภัณฑ์มากกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ นาย Thorsten Leopold ผู้พัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าเพื่อทำความสะอาดระดับโลกจาก Henkel ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า “ปัจจุบันคุณลักษณะของพลาสติกไซเคิลนั้น ยังไม่ค่อยเสถียร” ดังนั้น Henkel จำเป็นต้องคอยตรวจสอบข้อผิดพลาดในวัตถุดิบมากเป็นพิเศษอีกด้วย

และอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญในเวลานี้ ก็คือ ผู้บริโภคกำลังประสบกับความสับสน ไม่สามารถแยกขยะได้อย่างถูกต้อง จึงทำให้เกิดการปนเปื้อนระหว่างพลาสติกแบบเดิมกับพลาสติกรีไซเคิล และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อปริมาณขยะพลาสติกคุณภาพสูงที่จะนำไปรีไซเคิลไม่เพียงพอ ซึ่งจากข้อมูลของ Umweltbundesamt ได้แสดงว่า ปัจจุบันมีขยะพลาสติกจากครัวเรือนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้จริง ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยเริ่มตั้งแต่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคหรือประชาชน จนไปถึงหน่วยงานจัดเก็บ/คัดแยก ขยะ รวมถึงเครื่องจักร/อุปกรณ์/เทคโนโลยีในการคัดแยกขยะ นั่นเอง

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ – ปัญหาขาดแคลนพลาสติกรีไซเคิลแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผู้ผลิตสินค้าอุปโภคต่าง ๆ ของยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมนีกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า เริ่มมีการร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างทุกภาคส่วนทั้ง Supply Chain ตั้งแต่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภค และผู้กำจัดขยะ ที่จะนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลมาใช้ รวมถึงนำมาหมุนเวียนเพื่อผลิตแล้วใช้ใหม่อย่างจริงจัง ดังนั้น เทรนด์รักษ์โลกจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะทำการค้าขายในตลาดยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีอีกต่อไป จึงต้องเร่งศึกษา เตรียมความพร้อม และวางแผนการผลิตของตนเองให้ดี เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันกับเทรนด์ของตลาด และค้าขายในตลาดยุโรปได้อย่างยั่งยืน

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอรร์ลิน (มกราคม 2565)
Handelsblatt

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2