สถานการณ์เงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรในรอบเดือนที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้นถึง 6.2% มากที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าครองชีพของผู้นในสหราชอาณาจักรเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาอาหาร น้ำมัน และพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีคลังของสหราชอาณาจักรได้ประกาศมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นการลดการเรียกเก็บภาษีเงินได้ลงจาก 20% เหลือ 19% ลดภาษีที่เรียกเก็บจากเชื้อเพลิง 5 เพนซ์ต่อลิตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในเบื้องต้น แต่นักวิเคราะห์เห็นว่า อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 7.4% ในปีนี้ซึ่งจะส่งผลให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบในการใช้จ่ายในครัวเรือนมากขึ้นจนมาตรการที่รัฐประกาศไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้จริง

นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าครัวเรือนจะมีเงินสำหรับใช้จ่ายลดลง 2.2% ในปีนี้ และเป็นผลให้ผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรอาจต้องลดมาตรฐานในการดำรงชีวิตในช่วง 12 เดือนนี้ ทั้งนี้ ภาคธุรกิจค้าปลีกจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ทางการเงินของครัวเรือนในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้จ่ายเฉพาะสินค้าจำเป็นที่มีราคาต่ำ หรือตัดการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นออกไปจากการเลือกซื้อของ ในขณะที่ KPMG เห็นว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะประหยัดโดยพิจารณาตัดกิจกรรม เช่น การทานอาหารนอกบ้าน เลือกซื้อเสื้อผ้า ซื้ออาหารนอกบ้าน และซื้ออาหารในแต่ละอาทิตย์น้อยลง และผู้บริโภคจะให้ความสำคัญต่อความคุ้มค่าในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ซึ่งหากผู้ค้ามีการผ่านต้นทุนสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยการเพิ่มราคาสินค้า อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมในระยะยาว

ห้างค้าปลีกหลายห้างในสหราชอาณาจักรเริ่มวางจำหน่ายสินค้าจำเป็นในราคาต่ำเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค โดยล่าสุดห้างค้าปลีก ASDA ได้ประกาศวางจำหน่ายสินค้าจำเป็นราคาต่ำเพื่อเพิ่มเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในภาวะเงินเฟ้อ มากขึ้นซึ่งรวมถึงสินค้าอาหารและของใช้อื่นๆ เช่น ถั่วกระป๋อง ขนมปัง และน้ำยาล้างจาน เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาการตลาด Kantar ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรได้เริ่มหันมาเลือกซื้อสินค้า own label ที่มีราคาต่ำกว่าสินค้าแบรนด์นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด และเทรนด์การเลือกซื้อสินค้า own label นี้ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยสัดส่วนการเลือกซื้อสินค้า own label คิดเป็นสัดส่วน 50.6% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีสัดส่วน 49.9% โดยห้างขายสินค้าราคาถูก เช่น Aldi และ Lidl มีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 3.6% ในขณะที่ห้างค้าปลีกรายใหญ่ เช่น Tesco เป็นรายเดียวที่ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดขยายขึ้นเป็น 27.4% 

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความเห็น สคต.

สถานการณ์การใช้จ่ายของผู้คนในสหราชอาณาจักรในช่วงที่ประสบกับภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในราคาประหยัดมากขึ้น ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาหลายครอบครัวอาจมีเงินฝากสะสมมากเนื่องมาจากช่วง Lockdown แต่สถานการณ์เงินเฟ้อส่งผลให้การผู้บริโภคต้องชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง หรืออาจต้องลดคุณภาพของสินค้า หรือเลือกซื้อสินค้า own label ที่เสนอในราคาต่ำกว่าสินค้าปกติ นอกจากนี้ ในช่วงภาวะค่าน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลต่อความถี่ในการเดินทางไปเลือกซื้อสินค้าลดลงจากเฉลี่ย 15.7 เที่ยว เหลือเพียง 15.4 เที่ยวต่อเดือน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าผู้คนเริ่มได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อจนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภค

สินค้าไทยอาจมีโอกาสในการทำตลาดในช่วงนี้ หากสามาถนำเสนอเป็นสินค้าทางเลือกที่มีราคาต่ำกว่าสินค้าประเภทเดียวกันและมีคุณภาพใกล้เคียงกัน ดังนั้น การทำตลาดในช่วงนี้ อาจเน้นการนำเสนอด้านราคาและคุณภาพ ที่คุ้มค่าให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรได้

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน (มีนาคม 2565)
The Retail Gazette/Reuters/The Grocer

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2