It is a long established fact that a reader will be distracted by the readable content of a page when looking at its layout.
หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคเดนมาร์กกำลังทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้คำกล่าวอ้างทางการตลาดด้านจริยธรรม และสิ่งแวดล้อม (environmental and ethical claims) หลังจากได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าที่กล่าวว่า ‘เป็นสินค้าสีเขียว’ เป็นประจำ (greenwashing)
การตลาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจจากสังคมทั้งภาคเอกชน และรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในการตัดสินใจซื้อ แต่ในปัจจุบันยังคงพบว่า ยังมีโฆษณาที่ทำให้เข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืนที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ในปี 2557 ผู้ตรวจการผู้บริโภคของเดนมาร์ก (the Danish Consumers Ombudsman) ได้เผยแพร่ “คำแนะนำเกี่ยวกับการแสดงข้อมูลทางการตลาดด้านสิ่งแวดล้อมและจริยธรรม” (Guidance on the use of environmental and ethical claims) ซึ่งเป็นรายงานที่สรุปว่า สินค้าและบริการที่แสดงข้อมูลทางการตลาดว่าที่มีคำอ้างว่า ‘ยั่งยืน’, ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘เป็นมิตรกับสภาพอากาศ’ (sustainable, green or climate-friendly) ผู้ประกอบการจะต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงประกอบเกี่ยวกับกระบวนการผลิตทั้งวัฐจักรอย่างครบถ้วนและเพียงพอ หากไม่มีหลักฐานดังกล่าว หน่วยงานรัฐฯ ของเดนมาร์กจะถือว่า ข้อมูลการตลาดดังกล่าวเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติการตลาด และจะต้องเสียค่าปรับสูงสุดที่ประมาณ 15 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคเดนมาร์กได้สรุปข้อกฎหมายนี้เพิ่มเติมในปี 2564 ที่ผ่านมา โดยให้ตัวอย่างต่างๆ และให้ข้อมูลว่า กฎหมายนี้มีผลครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่สิ่งทอ โครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงอุตสาหกรรมอาหารด้วย โดยในปี 2565 นี้ ผู้ตรวจการผู้บริโภคของเดนมาร์กกำลังทบทวนแนวทางปฏิบัติกฎหมายนี้ ซึ่งหน่วยงานนี้ได้วางแผนการจัดทำ และเผยแพร่ฉบับภาษาอังกฤษด้วย หลังจากได้รับคำขอให้แปลเป็นจำนวนมาก จากความสนใจของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ ซึ่งในขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการยุโรปก็กำลังร่างกฎหมายเพื่อเสริมสร้างกฎระเบียบเกี่ยวกับวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ และวิธีการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนไปยังผู้บริโภคด้วย ซึ่งคาดว่าข้อเสนอกฎหมายนี้จะออกเผยแพร่ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย:
กลุ่มผู้บริโภคเดนมาร์กเป็นตลาดที่ให้ความสนใจสินค้าและบริการที่มีจริยธรรม ลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม และต้องการสินค้าที่มาจากธรรมชาติ มีประโยชน์ต่อร่างกายสูง ซึ่งคลอบคลุมไปเกือบทุกอุตสาหกรรมทั้งสินค้าอาหาร และสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้ภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ น้ำยาทำความสะอาด วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง และอื่นๆ นอกจากกฎระเบียบพื้นฐานของสหภาพยุโรปที่ต้องปฏิบัติตามแล้ว หากผู้ประกอบการต้องการใช้คำโฆษณาด้านจริยธรรม และรักษ์สังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการต้องมีเอกสารหลักฐานกระบวนการผลิต และเอกสารกับกับตัวสินค้าที่ครบถ้วน เพื่อมิให้เกิดปัญหาใดๆ ตามมา
โอกาสและแนวทาง: กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของสหภาพยุโรป คือ Regulation (EU) 2018/848 ทั้งนี้ กฎระเบียบด้านรักษ์สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับ และเป็นที่นิยมในตลาดนี้ เช่น GLOBALG.A.P., Food Safety System Certification 22000 (FSSC 22000 /ISO 22000) หรือ IFS Food Standard (International Featured Standard) ตราสัญลักษณ์เกษตรอินทรีย์ EU Ecolabel, EU Organic logo, Nordic Swan Ecolabel และ Danish Organic logo (Ø-label)
ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน (กุมภาพันธ์ 2565)
_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e
OMD2 #สพต2