สำนักวิจัยชื่อดังของอิตาลี Ufficio Studio Coop และ Nomisma ร่วมกันจัดทำรายงานผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคชาวอิตาเลียนต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ ความเชื่อมั่น และพฤติกรรมการบริโภค ในปี 2565 โดยได้สำรวจความคิดเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศโดยใช้ Keywords 10 คำ ที่สื่อถึงความเชื่อมั่นและความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ (ความหวัง การกลับสู่สภาพปกติ การฟื้นตัว การเปลี่ยนแปลง ความน่าเชื่อถือ วิกฤติ ข่าวสาร การออม หนี้สิน ความพึงพอใจ และสวัสดิการ) พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 32 มีความหวังว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศจะดีขึ้น (ลดลงจากปี 2564 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 37) โดยกลุ่ม Baby Boomers Generation (Gen B) เป็นกลุ่มที่แสดงความหวังมากที่สุดร้อยละ 40 อันดับ 2 ร้อยละ 16 มีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศจะกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 15) โดยกลุ่มผู้บริโภค Generation X (Gen – X) เป็นกลุ่มที่แสดงความเชื่อมั่นมากที่สุดร้อยละ 18 อันดับ 3 ร้อยละ 15 คิดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลง (ลดลงจากปี 2564 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 19) โดยกลุ่ม Generation Z (Gen – Z) เป็นกลุ่มที่คาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ร้อยละ 19 และอันดับ 4 ร้อยละ 7 มีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 3) โดยกลุ่มผู้บริโภค Generation Z (Gen – Z) เป็นกลุ่มที่แสดงความกังวลมากที่สุดร้อยละ 9

ทั้งนี้ จากการที่อัตราเงินเฟ้อมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2021 ได้ส่งผลให้ค่าครองชีพในอิตาลีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นและกำลังซื้อสินค้าของครัวเรือนในอิตาลีลดลง โดยสถาบันสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) ได้คาดการณ์ว่า ปี 2565 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและอุปโภคเพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับราคาสินค้าและบริการที่ปรับเพิ่มขึ้น จากการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้บริโภคชาวอิตาเลียน พบว่า

  • 45 เพิ่มความระมัดระวังในการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็น
  • 21 ลดการบริโภคสินค้าแต่ยังคงให้ความสำคัญคุณภาพของสินค้า
  • 15 ไม่ลดการบริโภคสินค้าแต่จะใช้จ่ายตามรายได้หรือจากเงินที่เก็บออมไว้
  • 11 ลดการบริโภคสินค้าและลดคุณภาพของสินค้า
  • 8 ไม่ลดการบริโภคสินค้าแต่จะใช้จ่ายโดยกู้ยืมจากธนาคาร

ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนอาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายสำหรับสินค้าเทคโนโลยี สินค้าแฟชั่น ความบันเทิง และการท่องเที่ยว โดยพบว่าสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนจะลดการใช้จ่ายมากที่สุด คือ สินค้าเทคโนโลยี (ร้อยละ 36) รองลงมา ได้แก่ การเดินทางท่องเที่ยว (ร้อยละ 31) สินค้าเฟอร์นิเจอร์/

ของตกแต่ง (ร้อยละ 27) และสินค้าเครื่องนุ่งห่ม (ร้อยละ 23) เป็นต้น นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการบริโภคของชาวอิตาเลียนในปี 2562 จะพบว่า ปี 2565 ชาวอิตาเลียนจะมีการใช้จ่ายในสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36 ซึ่งส่งผลให้สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนจะมีความต้องการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 รองลงมา คือ การใช้จ่ายในด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 ส่งผลให้สินค้าและบริการด้านสุขภาพจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 แต่ผู้บริโภคจะลดการใช้จ่ายในด้านการเดินทางท่องเที่ยว ร้านอาหารและบาร์ และสินค้าเทคโนโลยี ซึ่งมีสัดส่วน   ร้อยละ 44 ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายในด้านการท่องเที่ยว ร้านอาหารและบาร์ และสินค้าเทคโนโลยีมีความต้องการลดลง ร้อยละ 21 ร้อยละ 26 และร้อยละ 29 ตามลำดับ

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นยังได้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารที่คาดว่าในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อสำหรับสินค้าอาหารจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งส่งผลต่อกำลังการซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของผู้บริโภคชาวอิตาเลียนเป็นอย่างมาก โดยผลจากการสำรวจ พบว่า ร้อยละ 51 จะซื้อสินค้าอาหารและแบรนด์ที่มีการจัดโปรโมชั่น ร้อยละ 47 จะซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีสินค้าราคาถูก (Discount) บ่อยขึ้น ร้อยละ 43 จะซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีราคาถูกกว่า ร้อยละ 39 จะซื้อสินค้าอาหารและแบรนด์จากผู้กระจายสินค้าบ่อยขึ้น ร้อยละ 34 จะลดการทิ้งขวางอาหาร เป็นต้น แต่หากเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการบริโภคของชาวอิตาเลียนในปี 2562 พบว่า ปี 2565 การบริโภคสินค้าอาหารของผู้บริโภคชาวอิตาเลียนจะหดตัวลงร้อยละ 4 โดยผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ทางตอนกลางของอิตาลีจะลดการบริโภคมากที่สุดโดยหดตัวที่ร้อยละ 6 ในขณะที่ผู้บริโภคในเขตพื้นที่ทางตอนเหนือของอิตาลี (เมืองแห่งธุรกิจ การค้า และการผลิต) การบริโภคจะหดตัวเพียงร้อยละ 1 นอกจากนี้ พบว่าผู้บริโภค Gen – Z จะยังคงเป็นกลุ่มที่บริโภคสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ในขณะที่ผู้บริโภค Baby Boomers การบริโภคสินค้าอาหารจะหดตัวลงอย่างมากที่ร้อยละ 10

ความคิดเห็น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน มีความเห็นว่า ปี 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 รวมถึงอัตราเงินเฟ้อในประเทศอิตาลีที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น จะเป็นปัจจัยที่สำคัญทั้งต่อภาคการผลิต และภาคธุรกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้าหรือต้องการขยายตลาดมายังตลาดอิตาลี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาข้อมูลและแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในอิตาลีในยุคที่ผู้บริโภคจะต้องเผชิญกับปัญหาราคาสินค้าและบริการที่ปรับสูงขึ้นในขณะที่รายได้ยังคงเท่าเดิม ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภคชาวอิตาเลียน Gen – Z ยังคงเป็นกลุ่มที่มีการจับจ่ายใช้สอยและให้ความสำคัญกับสินค้าอาหาร ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย จึงควรเร่งวางแผนและปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวและเจาะตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นการชูจุดเด่นในเรื่องคุณภาพและมีมาตรฐานของสินค้าไทย รวมถึงการใส่ใจต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคชาวอิตาเลียนให้ความสำคัญอย่างมาก

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน (มกราคม 2565)
www.istat.itwww.italiani.coop และ www.foodaffairs.it  

_______________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2