It is a long established fact that a reader will be distracted by the readable content of a page when looking at its layout.
อิตาลีถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำการค้าระหว่างประเทศโดยใช้ระบบการขนส่งทางเรือมากเป็นอันดับต้น ๆ ในยุโรป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 50% ของระบบขนส่งการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันอิตาลีมีท่าเรือหลักที่สำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทั้งหมด 16 ท่าเรือ ได้แก่ Genova, La Spezia, Livorno, Venezia, Trieste, Ravenna, Ancona, Bari, Taranto, Gioia Tauro, Napoli, Civitavecchia, Catania, Messina, Cagliari และ Palermo โดยท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของปริมาณน้ำหนักขนส่งรวม คือ ท่าเรือ Trieste ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมหนักจำพวกแร่ ไม้ น้ำมันปิโตรเลียม ในขณะที่ ท่าเรือ Genova (เจโนวา) ถือเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญที่สุดด้านการค้าระหว่างประเทศ สามารถรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์จากทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ มีเส้นทางเชื่อมต่อที่สะดวกและรวดเร็วไปยังประเทศในแถบตอนกลางของยุโรป โดยเฉพาะสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และออสเตรีย โดยปี 2563 ท่าเรือทั้งหมดในอิตาลี มีปริมาณการขนส่งสินค้ารวมกันประมาณ 444 ล้านตัน
ท่าเรือ Genova ตั้งอยู่ในทะเลลีกูเรียตะวันตก เป็นท่าเรือที่สำคัญของเมือง Genova แคว้น Liguria มีขนาดพื้นที่ขยายออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะทางถึง 22 กิโลเมตรตามแนวชายฝั่ง โดยมีพื้นที่ผิวรวม 6 ล้านตารางเมตร และมีท่าจอดเรือ 25 แห่ง ซึ่งพร้อมรองรับเรือบรรทุกและสินค้าทุกประเภท ได้แก่ ตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ที่เน่าเสียง่าย โลหะ สินค้าไม้ สินค้าเทกองที่เป็นของแข็งและของเหลว ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมถึงการขนส่งผู้โดยสาร เป็นต้น นอกจากนี้ ท่าเรือ Genova ยังถือเป็นศูนย์กลางการกระจายการผลิต และมีบทบาทสำคัญในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสำหรับการสัญจรทางตู้คอนเทนเนอร์และมอเตอร์เวย์ในทะเล รวมถึงเป็นพันธมิตรระหว่างบริษัทเดินเรือรายใหญ่ ๆ ที่สำคัญ
ปัจจุบันท่าเรือ Genova ได้มีการวางแผนปรับปรุงพัฒนาท่าเรือให้กลายเป็นท่าเรือที่สำคัญและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยท่าเรือจะได้รับเงินสนับสนุนจากแผนการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศ (Il Piano Nazionale di Ripresa e Resilienza) และเงินสนับสนุนของเมือง Genova รวมกว่า 2.2 พันล้านยูโร ซึ่งเงินสนับสนุนดังกล่าวจะมีการจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือให้เป็นท่าเรือสีเขียว ลดการปล่อยมลพิษ เน้นประสิทธิภาพพลังงาน เน้นด้านโลจิสติกส์เพื่ออำนวยความสะดวกของการขนส่งสินค้าจากท่าเรือไปจนถึงสนามบิน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาสู่ระบบดิจิทัล รวมกันกว่า 27 โครงการ ซึ่งจะส่งให้มีการจ้างงานในประเทศมากกว่า 2 หมื่นคน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยของธนาคาร Intesa Sanpaolo (SRM) รายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศโดยการขนส่งทางเรือของอิตาลีในปี 2563 ว่า มีมูลค่ามากกว่า 206 พันล้านยูโร หดตัวลดลง 17% เทียบกับปี 2562 ซึ่งการลดลงดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของอิตาลีเกิดการชะลอและหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกของปี 2564 การค้าระหว่างประเทศโดยการขนส่งทางเรือกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 3% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยประเทศจีนถือเป็นแหล่งนำเข้าหลักของอิตาลีที่ใช้ระบบการขนส่งทางเรือ มีมูลค่า 20.5 พันล้านยูโร หรือคิดเป็นสัดส่วน 21% ของสินค้าที่อิตาลีนำเข้าทางเรือทั้งหมด ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอิตาลีที่ใช้ระบบการขนส่งทางเรือ มีมูลค่ากว่า27.2 พันล้านยูโร หรือคิดเป็นสัดส่วน 26% ของสินค้าที่อิตาลีส่งออกทางเรือทั้งหมด
จากข้อมูลตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การค้าระหว่างประเทศของอิตาลีโดยใช้ระบบขนส่งทางเรือในปี 2563 เกิดการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสอดคล้องกับผลการดำเนินงานของท่าเรือ Genova โดยในช่วงปี 2563 ท่าเรือ Genova มีปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด 44.1 ล้านตัน (-16.3% เทียบกับปี 2562) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปริมาณของตู้คอนเทนเนอร์ถึง 22.4 ล้านตัน (-9%) มีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต (TEU) 2.3 ล้านตู้ (-10%) ทั้งนี้ ในส่วนของการขนส่งผู้โดยสารได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการหยุดชะงักของการล่องเรือท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วง ฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อนทำให้ปริมาณการล่องเรือของนักท่องเที่ยวลดลง 90% ในขณะที่ปริมาณการใช้เรือข้ามฟากลดลง 44.9%
แต่ในปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในอิตาลีและทั่วโลกค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากการรณรงค์การจัดฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ระบบการขนส่งของท่าเรือ Genova กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งถึงแม้จะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ก็ตาม โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด 24.5 ล้านตัน (+12.4% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปริมาณของตู้คอนเทนเนอร์ 11.9 ล้านตัน (+7.2%) มีตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต (TEU) จำนวน 1.3 ล้านตู้ (+15.7%)
ความคิดเห็น
1. การที่อิตาลีเป็นประเทศแรกๆ ในยุโรปที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ Omicron ที่ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่จากการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวอย่างเคร่งครัด การให้ความร่วมมือจากประชาชนในการรับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นสัญญานที่ดีต่อการค้าระหว่างประเทศที่อาจจะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
2. ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีราคานำเข้าของอิตาลีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 อันเนื่องมาจากความต้องการภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเดือนพฤศจิกายน 2564 ดัชนีราคานำเข้าของอิตาลีขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.9% เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563 ในขณะที่ ดัชนีราคานำเข้าจากประเทศนอกสหภาพยุโรปขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.5% ทั้งนี้ สคต. มิลาน เชื่อว่า ปี 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ในอิตาลีจะกลับมาคลี่คลายดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ราคาค่าขนส่งทางเรืออาจปรับตัวลดลง ซึ่งถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายการส่งออกมายังตลาดอิตาลี
3. สินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ 90% จะเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือ Genova เนื่องจากเป็นท่าเรือที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี สะดวกในการกระจายสินค้าไปยังพื้นที่การค้าที่สำคัญทางตอนเหนือ-กลางของอิตาลี รวมถึงประเทศยุโรปตอนกลาง-ใต้ ดังนั้น การที่ท่าเรือ Genova วางแผนพัฒนาท่าเรือให้มีประสิทธิภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าทางเรือจากทั่วโลก นั้นหมายความว่าเป็นโอกาสที่ผู้นำเข้าจากอิตาลีและประเทศอื่น ๆ ในยุโรปจะมีการนำเข้าสินค้าไทยผ่านท่าเรือ Genova เพิ่มมากขึ้น
ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน (มกราคม 2565)
wwww.genova24.it, www.portsofgenoa.com และ www.assoporti.it
_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e
#DITP #OMD2 #สพต2