เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 นาย Gergely Gulyás รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนาย Zsolt Hernádi ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท MOL จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานข้ามชาติรายใหญ่สัญชาติฮังการี แถลงว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของสหภาพยุโรปที่ระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียทางทะเลเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้บริษัท MOL นำเข้าน้ำมันได้น้อยลง 30% ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งของ MOL อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง ส่งผลให้กำลังการผลิตและการกลั่นน้ำมันของบริษัทฯ ลดลง และจัดส่งน้ำมันให้ปั๊มน้ำมันในประเทศได้ไม่เพียงพอ เกิดการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศขึ้น ประกอบกับเกิดปรากฏการณ์ Panic Buying ที่ผู้บริโภคจำนวนมากรีบออกไปเติมน้ำมันรถยนต์ในระหว่างที่ยังจ่ายค่าน้ำมันในราคาประหยัดได้

ฉะนั้น รัฐบาลฮังการีจึงยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและเบนซิน 95 ที่ลิตรละ 480 โฟรินท์ สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลป้ายทะเบียนฮังการี ที่เดิมจะดำเนินไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีผลตั้งแต่เวลา 23 นาฬิกาของวันที่ 6 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไปตามเวลาท้องถิ่น ตามคำแนะนำของบริษัท MOL

อนึ่ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 รัฐบาลฮังการีเริ่มกำหนดเพดานราคาน้ำมันดีเซลและเบนซิน 95 ไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 480 โฟรินท์ และทบทวนมาตรการดังกล่าวทุกสามเดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทอื่นนั้นปรับขึ้นตามราคาจริงในตลาดได้ ทว่ามาตรการดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาหลายประการ ได้แก่ (1) สถานีบริการน้ำมันต้องแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันตามตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 ตามภาวะสงครามในยูเครน รัฐบาลจึงต้องอัดฉีดงบประมาณสนับสนุนผู้ประกอบการและตรึงราคาค้าส่งน้ำมันจากโรงกลั่นต้นทาง (2) ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 เกิดปรากฏการณ์ Fuel Tourism หรือกลุ่มผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก อาทิ สโลวาเกีย โครเอเชีย และออสเตรีย เดินทางมาเติมน้ำมันในฮังการีเพราะราคาน้ำมันถูกกว่า รัฐบาลจึงกำหนดให้การตรึงราคาน้ำมันครอบคลุมเฉพาะรถยนต์ที่มีป้ายทะเบียนฮังการีเท่านั้น ส่วนรถยนต์จากต่างประเทศ ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุกสินค้า จะต้องจ่ายค่าน้ำมันตามราคาจริงในตลาด ทว่าก็มีเสียงวิจารณ์จากบางประเทศในประเด็นการกำหนดราคาสองมาตรฐาน (Dual Pricing) ที่ไม่สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในสหภาพฯ  และ (3) ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วง High Season ของการท่องเที่ยว เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ รัฐบาลฮังการีจึงจำกัดสิทธิการเติมน้ำมันในราคาที่ตรึงไว้ ให้เพียงแค่รถยนต์ส่วนบุคคล รถแทร็กเตอร์ เครื่องจักรกลการเกษตร และรถแท็กซี่ที่ใช้ป้ายทะเบียนฮังการีเท่านั้น ส่วนรถยนต์ประจำหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนรถโดยสารสาธารณะ ต้องเติมน้ำมันในราคาจริงในตลาดเหมือนกันกับรถยนต์ป้ายทะเบียนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการรองรับเฉพาะกิจหลายประการ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ห่างไกลจากคลังน้ำมันได้ ประกอบกับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียชุดล่าสุดที่ทำให้การผลิตน้ำมันขาดช่วง รัฐบาลฮังการีจึงจำเป็นต้องยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดังกล่าวในที่สุด

หลังแถลงการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ราคาค้าปลีกน้ำมันดีเซลและเบนซิน 95 พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดทันทีโดยราคาเฉลี่ยทั้งประเทศประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ลิตรละ 699 และ 641 โฟรินท์ สำหรับน้ำมันดีเซลและเบนซิน 95 และมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจฮังการีในปัจจุบัน สำนักงานสถิติแห่งชาติฮังการีเปิดเผยว่า GDP ประจำไตรมาสที่ 3/2565 ขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2564 (YoY) ทว่าหดตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส  ที่ 2/2565 (QoQ) ทำให้ GDP ไตรมาสที่ 1-3/2565 ขยายตัว 6.1% (YoY) เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ คือภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 9.6% (YoY) โดยการผลิตขยายตัว 10.3% โดยเฉพาะการผลิตส่วนประกอบยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทว่าภาคเกษตรกรรมยังน่ากังวล หดตัว 39.3% YoY อันเป็นผลจากภัยแล้งช่วงกลางปี 

เมื่อพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ของฮังการีประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 เปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 พุ่งสูงถึง 22.5% หากเปรียบเทียบจากเดือนกันยายน 2565 สูงขึ้น 1.8% ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 13.6% 

ปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 65.9% (YoY) โดยเฉพาะค่าก๊าซธรรมชาติและก๊าซหุงต้มที่สูงขึ้นถึง 124.3% ตลอดจนราคาอาหาร เพิ่มขึ้น 43.8% (YoY) สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทคงทนถาวรเพิ่มขึ้น 14.4% (YoY) ตลอดจนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบราคาสูงขึ้น 13.8% (YoY) ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังคงอยู่ที่ 13% นับว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดในภูมิภาคยุโรปกลาง

เมื่อพิจารณาเงินสกุลโฟรินท์ของฮังการี พบว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยค่าเงินเริ่มตกลงไปมากกว่า 400 โฟรินท์/ยูโร ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 หลังคณะกรรมาธิการยุโรปยังไม่อนุมัติงบประมาณเพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ของสหภาพยุโรป (Recovery and Resilience Facility หรือ EU Recovery Fund) แก่ฮังการี เป็นมูลค่า 7.5 พันล้านยูโร โดยอ้างว่าผลการดำเนินการปฏิรูประบบยุติธรรมและการปราบปรามทุจริตในภาครัฐของฮังการียังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ การตัดสินใจดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจฮังการีชะลอตัวช่วงปลายปีเพราะยังไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและค่าเงินสกุลโฟรินท์

รูปภาพที่ 1 อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศ โฟรินท์ต่อ 1 ยูโร ในรอบ 1 เดือน (10 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม 2565)
ที่มาของข้อมูล: Portfolio

ทั้งนี้ ข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินโฟรินท์ล่าสุด ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2565 โดยธนาคารแห่งชาติฮังการี กำหนดไว้ที่ 414.94 โฟรินท์/ยูโร

ข้อคิดเห็นของ สคต.

ปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่สำคัญของเศรษฐกิจฮังการี ได้แก่ ภาวะสงครามในยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งฮังการียังรับผลประโยชน์บางส่วนจากรัสเซีย แต่มิได้ออกตัวสนับสนุนเต็มตัวเช่นประเทศสมาชิกอื่นๆ ในสหภาพยุโรปและ NATO จึงทำให้เกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างฮังการีกับสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ภาวะสงครามในยูเครนยังส่งผลต่อปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต การชะงักลงของระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้น

เมื่อพิจารณาประเด็นความขัดแย้งระหว่างฮังการีกับสหภาพยุโรป โจทย์สำคัญของรัฐบาลฮังการี จึงเป็นการเร่งปฏิรูประบบราชการประเทศ และปรับระดับความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปเพื่อให้ได้รับงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ โปแลนด์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของฮังการี ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันที่คณะกรรมาธิการยุโรปยังไม่อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ 

สถานการณ์เงินเฟ้อในฮังการีนั้น มาจากแรงดันทางด้านอุปทาน (Cost-Push Inflation) อันเป็นผลจากราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 เป็นหลัก ในขณะที่ระดับความต้องการสินค้าและระดับรายได้ประชาชนยังเท่าเดิมหรือลดลง ประกอบกับค่าเงินสกุลโฟรินท์อ่อนตัวลงต่อเนื่อง อำนาจการซื้อสินค้าของผู้บริโภคฮังการีจึงน้อยลง ผู้บริโภคและต้องปรับพฤติกรรมการบริโภค ในกรณีของฮังการี ระดับรายได้สุทธิของผู้บริโภคชาวฮังการีโดยทั่วไปน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป ผู้บริโภคชาวฮังการีจึงนิยมให้ความสำคัญกับราคาเป็นอย่างมาก หากสินค้าหรือบริการนั้นๆ มีคุณภาพใกล้เคียงกัน จะพิจารณาจากทั้งราคาขายทั้งหมด และราคาต่อหน่วย (ปริมาณที่ 1 โฟรินท์ซื้อได้) เพื่อความคุ้มค่าสูงสุด

ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว การค้าซบเซา แม้จะเป็นช่วงการเฉลิมฉลองปลายปีที่ผู้บริโภคมักจะซื้อสินค้ามากขึ้น ทั้งนี้ สคต. บูดาเปสต์ จะติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการในฮังการีและประเทศในเขตอาณาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทำการค้าของผู้ประกอบการไทย 

ที่มาของข้อมูล: Hungarian Central Statistical Office, Portfolio, Telex