
ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2563 – 2565 และตลาดอีคอมเมิร์ซไม่ได้เพียงแค่ขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังอุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ เช่น การเงิน การท่องเที่ยว การธนาคาร เป็นต้น ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซหลายแห่ง ในเวียดนามได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนอีคอมเมิร์ซจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 เนื่องจาก เป็นช่องทางที่จะช่วยให้เติบโตได้เร็วขึ้น ปัจจุบัน ใน E-Commerce มีการทำการตลาด 3 รูปแบบที่มีแนวโน้มที่โดดเด่น ได้แก่ การไลฟ์สด (live commerce) การตลาดแบบพันธมิตร และ ChatGPT ซึ่งมีการพัฒนาและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ดึงดูดผู้ค้าทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ โอกาสการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซในเวียดนามยังมีมาก เนื่องจากคน ใช้อินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คนเข้าถึงสมาร์ทโฟนและใช้โซเชียลมีเดียขยายตัวมากขึ้น มีการซื้อขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซในสัดส่วนสูง การจ่ายเงินออนไลน์มีหลายรูปแบบ
จากข้อมูล Data Science Joint Stock Company ระบุว่า ยอดขายรวมของแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ 4 อันดับแรกรวมถึง TikTok Shop มีมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย Shopee , Lazada และ TikTok Shop เป็น 3 แพลตฟอร์ม E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุด ในเวียดนาม นอกจากนี้ เมื่อค้าปลีกออนไลน์ขยายตัว ทำให้ธุรกิจอื่นได้รับประโยชน์และเติบโต ไปด้วย ได้แก่ ธุรกิจคลังสินค้า, บรรจุภัณฑ์, ขนส่ง และธุรกิจดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง เช่น โฆษณาออนไลน์ คาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ความงาม แฟชั่นผู้หญิงและเครื่องใช้ในครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีกฎหมายที่กำกับดูแลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ครอบคลุมถึงการค้าข้ามพรมแดนผ่านช่องทาง E-Commerce ด้วย จึงนับเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนาม ซึ่งถือเป็น อีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยในการจำหน่ายสินค้าไทยในเวียดนามให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย รวมทั้งสามารถ ติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าได้ที่ https://ditip-overseas.com
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย