It is a long established fact that a reader will be distracted by the readable content of a page when looking at its layout.
สินค้ากลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกยังนับเป็นสินค้าที่น่าจับตามองท่ามกลางตลาดอาหารในแคนาดา เมื่อบริษัท นีลเส็น ประเทศแคนาดา จำกัด ได้รายงานมูลค่าตลาดกลุ่มอาหารจากพืช (Plant-based food) ในแคนาดาปี 2564 มีมูลค่ารวม 1,100 ล้านเหรียญแคนาดา (ราว 29,700 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17% เทียบกับปีก่อนหน้า จากปัจจัยสนับสนุนผู้บริโภคแคนาดาตื่นตัวกับการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ รวมไปถึงนวัตกรรมด้านอาหารชั้นนำ ที่ส่งให้อาหารจากพืชมีรสชาติดีและรูปลักษณ์คล้ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ดั้งเดิมมากขึ้น
Ms. Kathlyne Ross รองประธานฝ่ายพัฒนาสินค้าและนวัตกรรม บริษัท Loblaw จำกัด ห้างค้าปลีกชั้นนำของแคนาดา เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มอาหารเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์นมทางเลือกนั้น กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแคนาดาเพิ่มขึ้นและได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ไม่ได้เฉพาะเจาะจงในกลุ่มมังสวิรัติเท่านั้น โดยเฉพาะผู้บริโภคแคนาดาหันมาเลือกรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (flexitarian หรือ plant-curious) มากขึ้น และลดการบริโภคเนื้อสัตว์บางมื้ออย่างเห็นได้ชัดเจน จึงกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อาหาร Plant base เติบโตและเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนทั่วไป
จากรายงานข้อมูลของบริษัท นีลเส็นฯ กล่าวถึงเหตุผลที่ชาวแคนาดาหันมาสนใจอาหารจากพืชนั้น พบว่า 32% เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะที่ 23% เพื่อหวังเห็นการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า ซึ่งแนวความคิดนี้มาจากกลุ่มบริโภคยุคใหม่หรือกลุ่มเจน Z
แน่นอนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการลดบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น ได้ส่งให้ผลผู้ผลิตอาหารแคนาดาหลายรายต่างเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชในรูปแบบอาหาร เครื่องดื่ม และชีสออกสู่ตลาดเป็นระยะๆ จนพบว่าสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้นในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปกว่าเดิม
โดยคุณ Brttany Hull รองประธานฝ่ายตลาด บริษัท Earth’s Own จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มนมจากพืชชื่อดังจากนครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เผยว่า ผู้บริโภคในแคนาดาหันมามาบริโภคอาหารจากพืช เพราะกระแสต้องการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมาในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ ขณะเดียวกันผู้ผลิตอาหารก็หันมามุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น โดยสร้างความหลากหลายด้านรสชาติ รูปลักษณ์ที่ถูกใจเพื่อสามารถดึงดูดผู้บริโภค โดยเฉพาะน้ำนมทางเลือกข้าวโอ๊ต (Oat Milk) ของบริษัทฯ ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาด เนื่องจากรสชาติที่ดี มีคุณค่าสารอาหารที่เหมาะสมสามารถนำมาผสมกับเครื่องดื่มร้อน เช่น ชา กาแฟ ได้ลงตัวดีกว่านมจากพืชประเภทอื่นๆ นอกจากนั้น ผู้บริโภคยังเรียนรู้ถึงกระบวนการผลิตธัญพืชข้าวโอ๊ตว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเพาะปลูกธัญพืชชนิดอื่น
ในขณะที่นาย Tony Morello ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท Zoglo’s Incredible ผู้ผลิตอาหารจากพืชรายใหญ่แห่งหนึ่งในนครโทรอนโต แคนาดา กล่าวถึงเทรนด์สินค้าอาหารจากพืชกำลังเติบโตได้ดีในหลายประเทศ ซึ่งในแง่ของผู้ผลิตเองจำเป็นต้องมีการคิดค้นสูตรอาหารใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น ล่าสุดบริษัทฯ ได้มีการลงทุนด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อสามารถนำผงโปรตีนถั่วลันเตาและถั่วเหลืองมาผลิตเป็นเนื้อไก่เทียม เพื่อให้ได้รสสัมผัสและมีรสชาติใกล้เคียงเนื้อสัตว์จริงที่สุด ซึ่งพบว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างดีโดยเฉพาะสินค้าไก่ไร้กระดูกทอด (pub-style chicken tender) นอกจากนั้น บริษัทมีแผนทยอยปล่อยสินค้าออกสู่ตลาดในอนาคต
นอกจากผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชออกมาในตลาดแล้ว ผลิตภัณฑ์ชีสซึ่งถือว่าเป็นอาหารยอดนิยมในแคนาดา ส่งผลให้มีผู้ประกอบการพยายามที่จะพัฒนาชีสที่มีรสชาติและเนื้อสัมผัสเสมือนกับชีสที่ผลิตจากสัตว์ ซึ่งคุณ Shoshana Price ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท Upfield Canada จำกัด ผู้ผลิตชีสจากพืชภายใต้แบรนด์ Violife ที่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ในตลาด 13 ชนิด เผยถึงวัตถุดิบที่ทำมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักคือ น้ำมันมะพร้าวคุณภาพดี ที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เพราะหากย้อนกลับไป 2 – 3 ปีก่อน คุณ Shoshana กล่าวว่าสินค้าชีสจากพืชถือว่าหาได้ยากในตลาดแคนาดา
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากตัวผลิตภัณฑ์เองแล้ว รูปแบบการจัดวางสินค้าให้ขายดีนั้นยังเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดค้าปลีกมองว่า ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การขายผู้ผลิตแต่ละรายเนื่องจากมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป เช่น ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเนื้อสัตว์จากพืช เห็นว่า ควรวางสินค้าในพื้นที่เดียวหรือใกล้เคียงกันกับที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ทั่วไป เพราะสามารถดึงดูดผู้บริโภคที่เป็นมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (flexitarian) ได้ดีกว่า โดยที่ไม่เสียเวลาเดินไปหาสินค้าในแผนกพืชผักโดยเฉพาะ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเครื่องดื่มนมจากพืช บริษัท Earth’s Own จำกัด มองว่า การจัดวางสินค้าอาหารจากพืชใกล้เคียงกัน จะสามารถกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคได้ดีกว่า เพราะมองว่าผู้บริโภคที่เลือกซื้อหรือรับประทานอาหารมังสวิรัตินั้น มักมีจุดเริ่มต้นจากการเลือกซื้อเครื่องดื่มก่อนแล้วจึงต่อยอดไปซื้อสินค้าอาหารจากพืชประเภทอื่นๆ ตามมา
ท้ายสุดนี้ คุณ Dana McCauley ผู้อำนวยการสถาบัน Canadian Food Innovation Network ให้ความเห็นเกี่ยวกับตลาดอาหารจากพืชในแคนาดาว่า ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนด้านรักษ์โลกจากคนรุ่นใหม่ที่เลือกลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงในบางมื้อ หรือไม่รับประทานเลย และหันมาทานอาหารประเภทพืชผักแทน ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีกับสุขภาพแล้ว ยังส่งผลดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน จึงเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตอาหารรายเดิมและรายใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้
ข้อคิดเห็น
ท่ามกลางการเพิ่มจำนวนประชากรของโลกที่มีความต้องการอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับความกังวลด้านมลภาวะจากการทำปศุสัตว์ในระดับอุตสาหกรรม ส่งให้องค์การอาหารนานาชาติเริ่มให้การสนับสนุนและพัฒนาโปรตีนทางเลือกอย่างจริงจังแล้ว ในส่วนของไทยนั้น โอกาสทางการค้าที่มีความเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตและปรุงแต่งโปรตีนจากพืชให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสินค้าดังกล่าวถือว่าค่อนข้างใหม่ในตลาด ผู้ประกอบการที่สนใจควรจะต้องทำการศึกษาเกี่ยวกับรสนิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน รวมถึงศึกษาถึงกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าของคู่ค้าอย่างรอบคอบ เพื่อจะได้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และวางกลยุทธ์ในการแนะนำสินค้าและราคาได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ (กุมภาพันธ์ 2565)
https://canadiangrocer.com/alternatives-go-mainstream
_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e
#DITP #OMD2 #สพต2