ภายหลังการลงนามในสัญญาความร่วมมือหลายฉบับระหว่างรัฐบาลประธานาธิบดีไรซี่กับหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกองกำลังพิทักษ์การปฎิวัติอิสลามหรือ Islamic Revolutionary Guard Corps (IRGC) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรจีฮัดของอิหร่านก็ได้ออกมาประกาศว่า รัฐบาลได้อนุมัติเม็ดเงินจำนวน 3 หมื่นล้านเหรียญฯ ให้แก่ IRGC เพื่อใช้ในโครงการปลูกข้าวทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีสัญญาดำเนินงาน 5 ปี เริ่มจากปีงบประมาณ 2022 เป็นต้นไป (เริ่มเดือนมีนาคม 2022) ซึ่งกระทรวงเกษตรจีฮัดอิหร่านคาดหวังว่าการดำเนินนโยบายเกษตรแบบพึ่งพาตนเองตามปนิธานของผู้นำสูงสุด รวมถึงนโยบาย “Self-sufficiency in Rice Crops” นี้ จะสำเร็จได้จะต้องได้รับความร่วมมือจาก IRCG เท่านั้น และเช่นเดียวกันความร่วมมือของ IRGC ในโครงการนี้จะทำให้อิหร่านสามารถผลิตข้าวในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศและไม่มีความจำเป็นจะต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีปริมาณสูงถึงปีละ 1 ล้านตัน ได้ในที่สุดภายในเวลา 5 ปี

สำหรับบริษัทคู่สัญญาที่จะเข้ามาดำเนินงานในครั้งนี้คือกลุ่มบริษัท Khatam al-Anbiya Construction Headquarter หรือ GHORB ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทก่อสร้างและวิศวกรรมขนาดใหญ่ ก่อตั้งขึ้นในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่านเพื่อวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างและบูรณะประเทศจากความเสียหายของสงคราม ปัจจุบันกลุ่มบริษัทนี้มีธุรกิจครอบคลุมด้านการก่อสร้าง วิศวกรรม พลังงาน เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมทางทหาร ด้วยจำนวนบริษัทในเครือจำนวน 812 บริษัท มีการจ้างงานกว่า 4 หมื่นคน และถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของกองกำลังพิทักษ์ฯ ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ ได้พยายามเสนอขออนุมัติเงินทุนในการดำเนินโครงการปลูกข้าวทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศนี้มาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นในสมัยประธานาธิบดีอะมาดิเนจัด แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ จนมาประสบความสำเร็จในสมัยปัจจุบัน

จากข้อมูลของกรมศุลกากรอิหร่านพบว่า ณ สิ้นปี 2021 อิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศทั้งสิ้นจำนวน 958,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 818 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากปี 2020 โดยการนำเข้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เป็นการนำเข้าภายใต้โครงการ Oils for Food หรือนำเข้าในรูปแบบการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือการค้าระบบต่างตอบแทน โดยมีประเทศอินเดีย (ร้อยละ 85) และปากีสถาน เป็นตลาดนำเข้าหลัก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอิหร่าน โดยกระทรวงเกษตรจีฮัด ให้ความเห็นว่าการนำเข้าสินค้าข้าวจากอินเดียและปากีสถานดังกล่าว เป็นการนำเข้าแบบไม่มีทางเลือกจึงทำให้สินค้าที่ได้รับส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำ ไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคในตลาด แต่ด้วยปัญหาการค่ำบาตรทำให้อิหร่านมีความจำเป็นต้องในรูปแบบการซื้อ-ขายแบบแลกเปลี่ยน ล่าสุดรัฐบาลปากีสถานได้เสนอขายข้าวบาสมาติให้อิหร่านแลกเปลี่ยนกับการนำเข้าน้ำมันและสินค้าปิโตรเคมี

อนึ่ง จากข้อมูลการสำรวจของทางการระหว่างปี 2016-2018 พบว่าอิหร่านมีพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศประมาณ 580,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 3,625,000 ไร่) โดยร้อยละ 70 ของพื้นที่ (ประมาณ 427,000 เฮกตาร์หรือประมาณ 2,668,750 ไร่) อยู่ในจังหวัดกีลานและจังหวัดมาชานดาราน ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ ติดทะเลสาบแคสเปี้ยน

อย่างไรก็ตามการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลกับหน่วยงานของ IRGC ในครั้งนี้ ถูกมองว่ารัฐบาลกำลังหารายได้ให้กับกองกำลังฯ IRCG และนำเศรษฐกิจใส่ในมือของ IRGC มากเกินไป เพราะนอกจากโครงการนี้แล้วยังพบว่ารัฐบาลได้ลงนามในโครงการจัดหาน้ำใช้ใก้กับหมู่บ้านที่ขาดแคนทั่วประเทศอีกในวงเงิน 3 หมื่นล้านเหรียญฯ เช่นกัน มอบโครงการสร้างที่พักอาศัยกว่า 4 ล้านยูนิตภายในเวลา 10 ปี  รวมถึงการเพิ่มวงเงินงบประมาณในปี 2022 ให้แก่ IRCG สูงถึงร้อยละ 58 เหล่านี้ เป็นต้น

ความเห็น

การมอบหมายให้ IRCG ดำเนินโครงการปลูกข้าวทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศในครั้งนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะครอบคลุมการดำเนินงานในขอบเขตใดบ้าง แต่เป็นที่แน่ชัดว่าด้วยพื้นที่ปลูกข้าวที่มีจำนวนจำกัดและสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยอำนวย คาดว่าการลงทุนในโครงการจะประกอบไปด้วย 2 แนวทาง คือ 1) ลงทุนในเครื่องจักรทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร และ 2) ลงทุนในรูปแบบ Contract Farming ซึ่งจะเป็นการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ที่ผ่านมาได้มีการหารือเช่าพื้นที่ปลูกข้าวระหว่างรัฐบาลอิหร่านกับต่างประเทศบ้างแล้ว เช่น ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และประเทศคู่ค่าที่สำคัญของอิหร่านในอเมริกาใต้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จของโครงการอาจต้องใช้เวลาอีกนานเนื่องจากการขาดประสบการณ์ของ IRGC ในเรื่องนี้ ทั้งนี้ คาดว่าในระยะสั้น-ปานกลางอิหร่านยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการนำเข้าข้าวจากไทย เพราะมีราคาที่ถูกกว่าข้าวที่ผลิตในประเทศและข้าวสายพันธ์ของอิหร่านโดยรวม

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน (กุมภาพันธ์ 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2