It is a long established fact that a reader will be distracted by the readable content of a page when looking at its layout.
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลอาร์เมเนียได้ส่งร่างโครงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือมายังรัฐบาลอิหร่านว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ผลิตสินค้าเครื่องประดับที่ทำมาจากทองคำในเขตปลอดภาษีของอาร์เมเนียและศูนย์เจียระไนเพชรพลอยในอิหร่าน โดยปัจจุบันร่างโครงการความร่วมมือดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การลงนามร่วมกันในอนาคตอันใกล้นี้
ประเทศในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียและกลุ่มประเทศเอเชียไมเนอร์ถือเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูงในรองรับการส่งออกสินค้าทองรูปพรรณ อัญมณี และเครื่องประดับของอิหร่าน โดยได้เข้ามาแทนที่ตลาดส่งออกดั้งเดิมของอิหร่าน เช่น ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน และอิรัก ภายหลังที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรรอบใหม่ในปี 2018 รัฐบาลอิหร่านก็ได้พยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมองหาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาทดแทนรายได้ที่สูญหายไปจากการค่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของสหรัฐฯ และจากความเห็นของรัฐบาล อุตสาหกรรม non-oil ที่มีความเป็นไปได้และสามารถสร้างมูลค่าสูงในระดับต้นๆ คือ อุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าทองรูปพรรณ อัญมณี และเครื่องประดับ ทั้งนี้ เนื่องจากอิหร่านมีความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบจำพวกทองคำและหินสีมากมายที่มีศักยภาพและมีความพร้อม แต่ที่ผ่านๆ มาขาดการบริหารจัดการและการพัฒนาที่เพียงพอในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งออกอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยสาวนหนึ่งมีสาเหตุมาจากอิหร่านยังไม่มีนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง จึงทำให้เสียโอกาสในการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตและผู้ส่งออกสินค้าทองรูปพรรณ อัญมณี และเครื่องประดับของภูมิภาค ดังนั้น การร่วมมือจัดตั้งศูนย์ผลิตสินค้าทองรูปพรรณ อัญมณี และเครื่องประดับกับอาร์เมเนียในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการที่จะพัฒนาและยกระดับศักยภาพผลิตและการส่งออกของอิหร่าน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ปัจจุบันการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศโดยอิหร่านเพียงลำพังยังไม่สามารถกระทำได้อย่างเต็มที่เพราะการคว่ำบาตรยังคงเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรและวัถุดิบ ที่มีทั้งความยุ่งยาก ความเสี่ยง และต้นทุนสูง เพราะต้องนำเข้าผ่านบุคคลที่สามในประเทศที่สาม
พฤติกรรมการบริโภค ชาวอิหร่านนิยมซื้อสินค้าเครื่องประดับทองคำ อัญมณี และเหรียญทองมาเก็บรักษาเป็นสินทรัพย์แทนเงินสด หรือ ซื้อหาเพื่อนำมามอบให้แก่บุคคลที่รักในเทศกาลและวันสำคัญต่างๆ ตลอดทั้งปี จากข้อมูลรายงานขององค์กร World Gold Council ในปี 2016 พบว่าอิหร่านเป็นประเทศผู้บริโภคสินค้าทองรูปพรรณ อัญมณี และเครื่องประดับที่ใหญ่เป็นลำดับ 5 ของโลก และความต้องการซื้อสินค้าประเภทนี้ของชาวอิหร่านชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ปริมาณการซื้อสินค้าประเภทดังกล่าวในอิหร่านลดลงร้อยละ 30 เนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และการคว่ำบาตร แต่อย่างไรก็ตามการซื้อเหรียญทองและทองคำไว้เป็นหลักประกันสินทรัพย์ในสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ของชาวอิหร่านยังเป็นที่นิยมมากกว่าการเก็บเงินสด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ค่าเงินเรียลสูญค่าไปกว่า 7 เท่าและมีความผันผวนมาโดยตลอด อนึ่ง ทองคำที่มีขายในตลาดอิหร่านส่วนใหญ่เป็นทอง 18K สตรีชาวอิหร่านนิยมเครื่องประดับประเภททองรูปพรรณ กำไร สร้อยคอ ตุ้มหู แหวน ทองคำขาว
การนำเข้า ไม่มีสถิติระบุการนำเข้าที่ชัดเจน โดยในช่วงที่ผ่านมาก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีนักธุรกิจชาวอิหร่านเดินทางไปยังประเทศไทยเพื่อเยี่ยมชมและสั่งซื้อสินค้าในงานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry Fair เป็นจำนวนมากในทุก ๆ ปี โดยรูปแบบการนำเข้าสินค้าเครื่องประดับจากไทย ส่วนใหญ่ยังเป็นการถือติดตัวเข้าทางสนามบิน ไม่ผ่านกระบวนการทางศุลกากร และผู้นำเข้าจะชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดในงาน เนื่องจากการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศอิหร่าน แต่ข้อห้ามนี้ก็ไม่ได้ลดปริมาณการนำเข้าแต่ประการใด โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีรายงานระบุว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของสินค้าเครื่องประดับทองคำและเครื่องประดับอัญมณีที่มีจำหน่ายในอิหร่านถูกนำเข้าอย่างผิดกฎหมายผ่านประเทศที่สาม โดยมีตุรกีและไทยเป็นตลาดนำเข้าหลัก
การผลิต จังหวัดอิสฟาฮานเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของอิหร่านและเป็นหนึ่งในไม่กี่จังหวัดที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย ส่วนแหล่งผลิตที่สำคัญรองลงมาได้แก่ กรุงเตหะราน จังหวัดยาซด์ จังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก จังหวัดโคราซานราซาวี และจังหวัดชีราซ มีการประเมินว่ามีโรงงานผลิตเครื่องประดับทอง อัญมณี และเครื่องประดับ ทั้งที่เป็นขนาดกลางและขนาดเล็ก ประมาณ 18,000 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ตั้งอยู่ในกรุงเตหะรานประมาณ 8,000 แห่ง จากผลสํารวจของหน่วยงาน ITPO (องค์การส่งเสริมการค้าอิหร้าน) พบว่าโรงงานผลิตส้วนใหญเป็นโรงงานขนาดเล็กที่มีแรงงานไม่เกิน 5 คน และมีโรงงานผลิตเพียงร้อยละ 50 ที่มีการจ้างงานมากกว่า 20 คนขึ้นไป ซึ่งถือเป็นจํานวนที่ค่อนข้างน้อยและอาจมีสาเหตุมาจากข้อจํากัดด้านแรงงานฝีมือ การจ้างงาน และระเบียบภาษีต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลรายงานของสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าทองคำ อัญมณี เงิน และหินมีค่าของอิหร่าน ( Iranian Association of Manufacturers and Exporters of Gold, Jewelry, Silver and Precious Stones) พบว่าอิหร่านประเทศผู้ผลิตทองคำและอัญมณีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
ในปีที่ผ่านมา อิหร่านได้จัดงานนิทรรศการนานาชาติสินค้าอัญมณี เครื่องเงิน เครื่องประดับ นาฬิกา และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 13 ขึ้นระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2021 โดยมีบริษัทผู้ผลิต ผู้ประกอบการในประเทศเข้าร่วมจำนวน 120 บริษัท และมีบริษัทต่างประเทศเข้าร่วม 10 บริษัท จากญี่ปุ่น ตุรกี อิตาลี เยอรมนี และอังกฤษ
ความเห็น อิหร่านเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติประเภททองคำและหินมีค่าเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่มีนโยบายส่งออกสินค้าเหล่านี้ในรูปวัตถุดิบ ในขณะเดียวกันการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตภายในประเทศก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ดังนั้น สินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ในประเทศส่วนใหญ่จึงมีรูปแบบและคุณภาพไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจผู้บริโภคเท่าที่ควร ยกเว้นทองคำแท่งและเหรียญทองคำ การนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศในกรณีนี้จึงมีความจำเป็นสำหรับตลาดอิหร่าน ในส่วนของสินค้านำเข้าจากไทยพบว่าได้รับความนิยมพอสมควรเนื่องจากมีความโดดเด่นในด้านการออกแบบ ราคา และคุณภาพที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะสินค้าเครื่องประดับสำหรับสตรีและแหวนสำหรับสุภาพบุรุษ เป็นต้น การจับมืออาร์เมเนียในโครงการจัดตั้งศูนย์ผลิตทองรูปพรรณ อัญมณี และเครื่องประดับของอิหร่านในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจของอิหร่านที่มุ่งเน้นการขยายความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านและการสร้างฐานความพร้อมทางเศรษฐกิจสำหรับการเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาครองรับการพัฒนาเส้นทางสายไหมของจีนและการเปิดเสรีทางการค้าของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่อิหร่านเป็นสมาชิก เช่น องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (The Economic Cooperation Organization :ECO) สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) และองค์การความร่วมมือเชี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) เป็นต้น
ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน (กุมภาพันธ์ 2565)
_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e
#DITP #OMD2 #สพต2