It is a long established fact that a reader will be distracted by the readable content of a page when looking at its layout.
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอียิปต์เร่งสนับสนุนการลงทุน การผลิตสินค้าในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายชื่อสาขา/สินค้า จำนวน 131 รายการ โดยรัฐบาลอียิปต์ได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม 17 แห่ง ใน 15 เขต ซึ่งมีการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านปอนด์อียิปต์ (ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) สามารถรองรับโรงงานได้ 5,046 โรงงาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการสนับสนุนของกองทุนการพัฒนาเพื่อการส่งออก จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้เริ่มดำเนินการในช่วงสองปีที่ผ่านมา ช่วยกระตุ้นการส่งออกของอียิปต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยรัฐมนตรีกระทรวงการค้าฯ มีความเห็นว่า การพัฒนาระบบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายตามแผนงานดังกล่าว รวมทั้งการปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เข้ากับท้องถิ่นและแนวทางการพัฒนาจัดหางานที่ยั่งยืนสำหรับเยาวชน ทั้งนี้ กระทรวงการค้าฯ มีการฝึกอบรมสายอาชีพผ่านศูนย์ 45 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในเขตปกครอง 17 แห่งทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาด้านฝีมือแรงงานให้กับแรงงานของประเทศ และลดการว่างงานสำหรับนักศึกษาจบใหม่
ความคิดเห็น
รัฐบาลอียิปต์พยายามที่จะลดการนำเข้า โดยการผลิตสินค้าในประเทศ เพื่อลดการขาดดุลทางการค้า และสนับสนุนการส่งออก โดยรัฐบาลอียิปต์ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในห้าปี อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกระทบต่อเศรษฐกิจของอียิปต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การส่งออกของอียิปต์คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 13 ของ GDP ในขณะที่การส่งออกสินค้าของประเทศอื่นๆ เช่น โมร็อกโก เวียดนาม และเม็กซิโก เมื่อเทียบกับ GDP อยู่ที่ร้อยละ 35, 106 และ 40 ตามลำดับ นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออียิปต์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกสินค้าธัญพืชและข้าวสาลีที่สำคัญของโลก และอียิปต์ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากทั้งสองประเทศเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 44 และราคาน้ำมันดอกทานตะวันก็เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 32
อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเข้มแข็ง และการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอียิปต์ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ส่งผลให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอียิปต์ไม่ทรุดตัวลงไปมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของอียิปต์เมื่อเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 40,993 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ อียิปต์ยังได้กู้เงินเพิ่มเติมจาก IMF จำนวน 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.6 และรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 ไว้ที่ร้อยละ 5.5 พร้อมกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะยาวโดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการส่งเสริมภาคการผลิต และการปรับปรุงภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมให้ทันสมัย รวมทั้งส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อรองรับการพัฒนาดังกล่าว โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคของประเทศ
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลอียิปต์ก็ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การลงทะเบียนล่วงหน้าสำหรับสินค้านำเข้า (Advance Cargo Information System) และการชำระเงินค่าสินค้านำเข้าในรูปแบบ L/C เพื่อควบคุมและบริหารจัดการการนำเข้าของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดปัญหาการขาดดุลทางการค้าที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน จึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการส่งออกของไทยจะต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อให้สามารถก้าวได้ทันกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับผู้นำเข้าในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลอียิปต์ให้ความสำคัญ และจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยในการรักษาและขยายฐานตลาดสำหรับสินค้าไทยในอียิปต์
ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร (เมษายน 2565)
_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e
#DITP #OMD2 #สพต2