ธุรกิจ E-Commerce อาหารสดของจีน นับว่ากำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยจำหน่ายสินค้า ผลไม้ ผัก ไข่และเนื้อสัตว์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อและสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย จากข้อมูลการสำรวจพบว่า มูลค่าตลาดธุรกิจ E-Commerce อาหารสดของจีนในปี 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 363,750 ล้านหยวน และคาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าสูงถึง 630,200 ล้านหยวน


สำหรับรูปแบบธุรกิจ E-Commerce อาหารสดของจีน มีทั้งหมด 4 ประเภท

(1) Pre-warehouse คือ การจัดตั้งคลังสินค้าในชุมชน เมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าอาหารสด ผู้ให้บริการจะจัดส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคทันที โดยใช้เวลาจัดส่งประมาณ 30 – 60 นาที

(2) Store-Warehouse Integration คือ การผสานรวมร้านค้าออฟไลน์และคลังสินค้าเข้าด้วยกัน และรับประกันจัดส่งสินค้าภายในระยะเวลาอันสั้น

(3) Home Delivery คือ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร่วมมือกับซูเปอร์มาร์เก็ตออฟไลน์ เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจะจัดส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคประมาณ 30 – 40 นาที

(4) Community Group Buying คือ การซื้อสินค้าแบบรวมกลุ่มในชุมชน หลังจากผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าอาหารสดออนไลน์แล้ว สินค้าดังกล่าวจะถูกจัดส่งไปยังจุดรับสินค้าด้วยตนเองในชุมชนของวันถัดไป โดยผู้บริโภคสามารถมารับสินค้าได้ด้วยตนเอง


โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค E-Commerce อาหารสด อย่างแรกคือการให้บริการจัดส่ง รองลงมา คือ การให้บริการ ราคา และความชื่นชอบต่อแบรนด์ ส่วนสุดท้ายคือความชื่นชอบ ของผู้บริโภคต่อกลยุทธ์การจำหน่าย ซึ่งล้วนต้องคำนึงถึงความต้องการอาหารสดที่มีคุณภาพของผู้บริโภคเป็นหลัก


อย่างไรก็ดี ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสของสินค้าไทย เนื่องจากแพลตฟอร์มอาหารสดของจีนสามารถพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารสดเพิ่มมากขึ้น ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ แสดงให้เห็นโอกาสที่ผลไม้และอาหารทะเลแช่เย็นของไทยจะมีช่องทางการจำหน่ายซึ่งสามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น


ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าได้ที่ https://ditip-overseas.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง