สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจต่างๆเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคชาวแคนาดาอีกด้วย แม้เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวและประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม แต่โครงสร้างตลาดและระบบเศรษฐกิจก็ส่งผลกระทบให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดย PWC’s Canadian Consumer Insights ได้ทำการวิจัยประชากรในเดือนมิถุนายน 2565 และได้ผลสรุปดังต่อไปนี้
1) มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยชาวแคนาดากว่า 53% ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมากที่สุด และ 36% ใช้จ่ายกับการรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้น 32% ใช้จ่ายกับการเดินทางเพิ่มมากขึ้น 28% ใช้จ่ายกับการสั่งอาหารกลับบ้านรับประทานเพิ่มมากขึ้น 22% ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น
2) การซื้อของออนไลน์ลดลง ในช่วงการแพร่ระบาด อาจจะมียอดการสั่งซื้อของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แต่หลังจากภาวะผ่อนคลายเป็นต้นมา ผู้บริโภคต่างต้องการออกไปเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเอง โดยเฉพาะสินค้าอาหารสด และสินค้าอุปโภคบริโภค
3) มีการสนับสนุนร้านค้าปลีกในท้องถิ่นมากขึ้น 34% ของประชากรที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า การแพร่ระบาดทำให้ตนเองซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกในท้องถิ่นมากขึ้น ในขณะที่ 67% ของผู้ตอบคำถามบอกว่าตนยินดีจ่ายเพิ่มเพื่ออุดหนุนผลิตภัณฑ์ของประเทศแคนาดาและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้อาจส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าที่แคนาดาสามารถผลิตทดแทนเองได้ แต่ยังไม่กระทบกับสินค้าที่แคนาดาไม่สามารถผลิตเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าอาหาร ที่ประเทศไทยมีความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดแคนาดา ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรพัฒนาสินค้าให้มีความแปลกใหม่ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและคงส่วนแบ่งทางการค้าตลาดแคนาดาในระยะยาว
ที่มาข้อมูล: ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต (18-22 กรกฎาคม 2565)