It is a long established fact that a reader will be distracted by the readable content of a page when looking at its layout.
สหราชอาณาจักรได้ประกาศเก็บภาษีบรรจุภันฑ์พลาสติกทุกชนิดที่มีปริมาณพลาสติกรีไซเคิลน้อยกว่าร้อยละ 30 (Plastic Packaging Tax; PPT) ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ผลิตและผำเข้าบรรจุภันฑ์ พลาสติกรายใดที่มีการผลิตหรือนำเข้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกทุกชนิด มากกว่า 10 ตันภายในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา หรือ จะมีการผลิตหรือนำเข้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใน 30 วันข้างหน้า จะต้องลงทะเบียนกับหน่วยงาน Her Majesty’s Revenue and Customs (HMRC) ภายใน 30 วัน อย่างไรก็ดี หากบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตหรือนำเข้าดังกล่าวมีปริมาณพลาสติกรีไซเคิลมากกว่าร้อยละ 30 ไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าว ส่วนบริษัทที่มีการผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีปริมาณพลาสติกรีไซเคิลน้อยกว่าร้อยละ 30 จะต้องจ่ายภาษีในอัตรา 200 ปอนด์ต่อเมตริกตัน
พลาสติกที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี เป็นประเภทโพลิเมอร์ (polymer) ที่อาจมีการเติมสารเติมแต่ง (additive) หรือ สาร (substance) และไม่รวมถึงโพลิเมอร์ที่มีเซลลูโลส (cellulose) ซึ่งยังไม่ผ่านการดัดแปลงทางเคมี โดยสารเติมแต่ง เช่น แคลเซียม และ สีย้อม จะนับเป็นส่วนหนึ่งของพลาสติกเพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้ ในกรณีที่พลาสติกมีวัสดุอื่นผสมอยู่ด้วย เช่น แก้ว ซึ่งหากประกอบด้วยพลาสติกโดยน้ำหนักมากกว่าส่วนผสมอื่นๆ ให้ถือว่าเป็นพลาสติก ซึ่งผู้ประกอบควรจะต้องตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อและการผลิตเพื่อตรวจสอบว่าจะต้องเสียภาษีดังกล่าวหรือไม่
นักวิเคราะห์ได้กล่าวถึงผลกระทบจากการจัดเก็บภาษี PPT ที่มีผลต่อธุรกิจว่า การเก็บภาษี PPT ดังกล่าวอาจจะเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัทตามขนาดของธุรกิจ โดยบริษัทต้องเตรียมพร้อมสำหรับการตรวจสอบสถานะธุรกิจ(due diligence) และเตรียมการด้านเอกสารเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ ทั้งนี้ ธุรกิจต่างๆ อาจจะเห็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะสั้น เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการขาดแคลนพลาสติกรีไซเคิล
ในส่วนของผู้บริโภคนั้น ภาษี PPT ไม่ได้กระทบผู้บริโภค แต่เป็นการบังคับให้ธุรกิจจำนวนมากเพิ่มการใช้พลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น โดยสร้างตัวเลือกให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลเป็นตัวเลือกหลัก อย่างไรก็ดี บางธุรกิจอาจจะผลักภาระให้ผู้บริโภคโดยการเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งรัฐบาลฯ เห็นว่า เป็นเพียงจำนวนเงินเล็กน้อยของต้นทุนในการผลิตสินค้า
ข้อมูลเพิ่มเติม/ ความเห็น สคต.
สคต. เห็นว่า ชาวสหราชอาณาจักรให้ความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ ในส่วนของห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักรนั้น ได้เริ่มดำเนินการลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก มีการให้บริการสินค้าแบบ Refill Station ในบางสินค้า รวมทั้งลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในราคา 5 เพนซ์ต่อใบ ซึ่งการเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นอีกแนวทางในการลดการใช้พลาสติกของรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยรัฐบาลฯได้มีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ในส่วนของผู้ประกอบการไทยนั้น ผู้ประกอบการควรพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทย ซึ่งจะส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าไทยมาจำหน่ายในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าบรรจุภัณฑ์ของไทยที่มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการขยายการส่งออกมายังสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน (เมษายน 2565)
Edie และ Gov.uk
_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e
#DITP #OMD2 #สพต2