ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดของรถกระบะในตลาดยานยนต์อาร์เจนตินาเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยที่ในปี 2559 ส่วนแบ่งตลาดของรถกระบะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15 ของรถยนต์ขนาดเล็กที่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศเท่านั้น แต่ปัจจุบันเกือบหนึ่งในสี่ของการจดทะเบียนยานพาหนะส่วนใหญ่เป็นรถกระบะ ซึ่งมีสองปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดแนวโน้มดังกล่าว คือ (1) การเติบโตของกิจกรรมในชนบท ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีความต้องการใช้งานยานพาหนะประเภทนี้อย่างมาก (2) ปัจจัยทางด้านราคา เนื่องจากรถกระบะได้รับการยกเว้นภาษีรถยนต์หรู และต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงร้อยละ 10.5 เทียบกับภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 21 ที่รถยนต์โดยทั่วไปต้องจ่าย ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดย สมาคมผู้ค้ายานยนต์แห่งสาธารณรัฐอาร์เจนตินา (Association of Automotive Dealers of the Argentine Republic หรือ Acara) พบว่าในปี 2559 รถกระบะได้รับส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.7 และในปีต่อๆ มาส่วนแบ่งการตลาดของรถกระบะเริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2564 แตะระดับอยู่ที่ร้อยละ 23.5 อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าฤดูกาลที่ผ่านมาจะไม่ใช่ฤดูกาลที่ดีที่สุดสำหรับตลาดยานยนต์ แต่มียอดยานยนต์จดทะเบียนทั้งสิ้น 355,496 คัน และยอดการจดทะเบียนรถกระบะสูงถึง 83,430 คัน สำหรับในปี 2565 คาดการณ์ว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไป โดยในช่วงระยะเวลาสองเดือนของปี 2565 (มกราคม-กุมภาพันธ์) ตัวเลขบ่งชี้ว่ารถกระบะจะมีบทบาทนำอีกครั้ง โดยสังเกตได้จากยอดการจดทะเบียนยานยนต์รวมทั้งสิ้น 76,261 คัน มีการจดทะเบียนรถกระบะจำนวนสูงถึง 16,253 คัน คิดเป็นร้อยละ 21.31 ของการจดทะเบียนยานยนต์ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี นาย Ricardo Salomé ประธานสมาคมผู้ค้ายานยนต์แห่งสาธารณรัฐอาร์เจนตินา (Acara) กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่สนับสนุนการจำหน่ายรถกระบะด้วยกัน หนึ่งในนั้นคืออุปสงค์ที่เกิดจากความจำเป็นต้องการใช้งานในชนบท ซึ่งการใช้รถกระบะเป็นการใช้ยานพาหนะพื้นฐานที่สำคัญในอาร์เจนตินา เพื่อการพัฒนาบริษัท/องค์กรในชนบทและกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ และปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ภาระทางด้านภาษี เนื่องจากรถกระบะและรถยนต์เอนกประสงค์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงร้อยละ 10.5 แต่รถยนต์ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 21 จากสาเหตุข้างต้นแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ผู้ซื้อรถกระบะจะได้รับ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นที่ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถกระบะสูงขึ้นนั้นไม่ได้มีผลอะไรมากนัก เนื่องจากแนวโน้ม/ความนิยมการใช้รถกระบะมีอยู่แล้วนับเป็นเวลาหลายทศวรรษ และจากข้อมูลของตัวแทนหอการค้ายานยนต์อาร์เจนตินาระบุว่า การใช้รถกระบะได้รับความนิยมเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2523 หรือต้นปี 2533 รถกระบะถูกนำมาใช้เพื่อการทำงานเท่านั้น และในขณะเดียวกัน ผู้ใช้คนเดียวกันยังมีรถเก๋งอีกคันเพื่อใช้สัญจรกับครอบครัว แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป สองยานพาหนะข้างต้นถูกรวมเข้าด้วยกัน จึงเป็นที่มาของยานยนต์ รถอเนกประสงค์ SUV (Sport Utility Vehicle)  และรถกระบะ 4 ประตู หรือที่เรียกกันว่ารถกระบะ Double Cab ซึ่งขณะนี้รถกระบะได้ยกระดับสูงสุดเช่นเดียวกับรถเก๋ง

นอกเหนือจากนี้ บริษัท Grupo Simpa ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในท้องถิ่น แบรนด์ Royal Enfield ลงทุนมูลค่ารวม 150 ล้านเปโซอาร์เจนตินา หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสองเท่าของสายการผลิตที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2563 และเริ่มส่งออกรถจักรยานยนต์ไปยังอุรุกวัยและปารากวัย เป็นต้น นอกจากนี้ นาย Ramaswamy ผู้บริหารชาวอินเดียที่บริหารจัดการแบรนด์ Royal Enfield ทั่วทั้งภูมิภาคอเมริกากล่าวว่า เพื่อจัดหาตลาดภายในประเทศ การขยายสายการผลิตจะทำให้สามารถประกอบชิ้นส่วนได้มากถึง 20,000 หน่วยต่อปี ส่งผลให้แบรนด์ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าชาวอาร์เจนตินา และมีแนวคิดที่จะขยายธุรกิจเพิ่ม ซึ่งการลงทุนในโรงงาน Simpa จะทำให้สามารถขยายสายการประกอบและเริ่มส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยมีข้อตกลงกับ Royal Enfield ในการส่งออกรถจักรยานยนต์ จำนวน 250 คัน ไปยังปารากวัยและอุรุกวัยในปี 2565 อีกทั้ง แผนขยายการเติบโตการส่งออกรถจักรยานยนต์ดังกล่าว จะทำให้ร้านค้าจักรยานยนต์มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม 12 แห่ง ในปัจจุบัน เป็น 20 แห่ง ภายในสิ้นปี 2565 อีกด้วย

บริษัท Grupo Simpa เริ่มประกอบรถจักรยานยนต์ Royal Enfield ในเดือนกันยายน 2563 ที่โรงงานของตนเอง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นโรงงานแห่งแรกที่ประกอบรถจักรยานยนต์ Royal Enfield นอกอินเดีย และเมื่อมีการประกาศขยายสายการผลิต ได้ย้ายสายการประกอบไปยังโรงงานอื่น ในกลุ่ม Royal Enfield มีการแข่งขันกันในตลาดรถจักรยานยนต์เครื่องยนต์ขนาดกลาง โดยมีขนาดความจุอยู่ที่ประมาณ 350 ถึง 600 ซีซี ราคาอยู่ระหว่าง 4,700 ถึง 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ในส่วนของตลาดอาร์เจนตินากระจุกตัวอยู่ในตลาดรถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์ขนาดเล็ก สูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 150 ซีซี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของยอดจำหน่ายทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ บริษัท Grupo Simpa ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2565 ตลาดรถจักรยานยนต์ทั่วไปสามารถเติบโตได้ระหว่างร้อยละ 20 ถึง 25 เมื่อเทียบกับปี 2564 และสามารถประกอบได้สูงสุดถึง 380,000 ถึง 400,000 คัน แต่มีตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือ เงินเหรียญสหรัฐฯ ที่รัฐบาลอนุญาต เพื่อให้สามารถนำเข้าได้ ซึ่งบริษัทฯ พยายามมองโลกในแง่ดีว่าจะสามารถเติบโตได้มากกว่านี้ สำหรับ Royal Enfield มีความต้องการที่จะเพิ่มยอดขายเป็นสองเท่าจากในปี 2564 จำนวน 3,500 คัน เป็น 6,500 ถึง 7,000 คัน ในปี 2565

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเทศไทย

ชิ้นส่วนยานยนต์เป็นสินค้าส่งออกศักยภาพสำคัญของไทย ซึ่งไทยจัดเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าวที่มีความเกี่ยวข้องอย่างมากต่ออาร์เจนตินา โดยในปี 2564 อาร์เจนตินานำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ตาม HS Code ที่เกี่ยวข้องจากตลาดโลก รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งออกเป็นรายประเทศ ดังนี้ (1) บราซิลร้อยละ 34 (2) ไทย ร้อยละ 15 และ (3) เยอรมนี ร้อยละ 10 ตามลำดับ ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 2 ของการนำเข้าทั้งหมด จากสถิติการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยไปยังอาร์เจนตินาข้างต้น ผู้ประกอบการไทยควรสังเกตตลาดการผลิตรถยนต์อาร์เจนตินามากยิ่งขึ้น เนื่องจากอาร์เจนตินาจำเป็นต้องใช้วัสดุนำเข้าเพื่อทำการผลิตยานยนต์ต่อไป และแม้ว่าบราซิลจะเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์หลักไปยังอาร์เจนตินา แต่ชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยก็มีศักยภาพอย่างมากที่จะได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งของบริษัทไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมในท้องถิ่นต้องการส่วนประกอบและชิ้นส่วนที่จำเป็นสำหรับการผลิต ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ที่ร้อยละ 14-18

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และรถจักรยานยนต์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมอาร์เจนตินาและการส่งออกของประเทศ แต่ยานยนต์ในอาร์เจนตินาไม่สามารถผลิตได้หากไม่มีการนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับยานยนต์สำเร็จรูป ในส่วนของยานยนต์ อาร์เจนตินาตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ให้ได้ประมาณ 440,000 คัน ภายในปี 2564 และคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 570,000 คันในปี 2565 ซึ่งหมายความว่าสินค้าชิ้นส่วนเบาะนั่ง อะไหล่ช่วงล่าง กันชน และเครื่องยนต์ เป็นสินค้าที่มีโอกาสสูงสำหรับไทย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ในท้องถิ่นมีความเชี่ยวชาญและความเชี่ยวชาญสูงในการผลิตรถกระบะ และรถกระบะเป็นตัวแทนของตลาดยานยนต์ในอาร์เจนตินา คิดเป็นร้อยละ 25

สำหรับรถกระบะรุ่นที่ขายดี 10 อันดับของประเทศอาร์เจนตินา มีดังนี้

(1) Toyota Hilux: ไม่เพียงแต่เป็นรถกระบะที่มียอดขายสูงสุด แต่ยังเป็นรถยนต์ที่ได้รับเลือกมากที่สุดเป็นอันดับสองในปี 2564 ด้วยจำนวน 27,125 คัน ที่มีการจดทะเบียนทั่วประเทศ
(2) Volkswagen Amarok ได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 3 ในปี 2564 ด้วยยอดขาย จำนวน 18,682 คัน
(3) Ford Ranger ปี 2564 ติดสิบอันดับแรกด้วยยอดขาย จำนวน 14,925 คัน
(4) Nissan Frontier แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น ขายรถกระบะได้ จำนวน 5,760 คันในปี 2564
(5) Fiat Toro แบรนด์อิตาลี ทำยอดขายได้ จำนวน 4,777 คัน
(6) Renault Alaskan วางจำหน่ายในอาร์เจนตินาเมื่อปลายปี 2563 และในปี 2564 กลายเป็นรถกระบะที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ยอดจดทะเบียน จำนวน 3,927 คัน
(7) Fiat Strada เป็นหนึ่งในรถกระบะที่มีขนาดเล็กที่สุดในตลาด และยังมีราคาถูกที่สุดอีกด้วย ด้วยยอดขาย จำนวน 3,728 คัน ส่งผลให้อยู่ในอันดับที่ 7
(8) Chevrolet  S10 ในปี 2564 รถบรรทุก Chevrolet มีความเป็นสัญลักษณ์ ด้วยยอดขาย จำนวน 3,094 คัน
(9) Volkswagen Saveiro: รถกระบะขนาดเล็กของ Volkswagen มียอดขาย 1,321 คันในปี 2564
(10) Ram 1,500 รถกระบะสัญชาติอเมริกัน ยอดจดทะเบียน 1,100 คัน ในตลาดอาร์เจนตินาเมื่อปี 2564

ในส่วนขอการผลิตรถจักรยานยนต์ จะเห็นได้ว่าปี 2565 อาร์เจนตินาจะมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีการลงทุนในภาคส่วนนี้ เพื่อผลิตรถรุ่นต่างๆ อาทิ Royal Enfield เป็นต้น

ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของอาร์เจนตินา โดยที่ชิ้นส่วนยานยนต์เป็นปัจจัยหลักในการค้าระหว่างอาร์เจนตินาและไทย และมีปัจจัยการผลิตสำหรับรถจักรยานยนต์เริ่มมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์ อาทิ ชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่บริษัทไทยควรให้ความสำคัญโดยอาศัยการขยายการส่งออกไปยังอาร์เจนตินา ในปี 2565 ประกอบกับการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าออนไลน์ OBM ชิ้นส่วนยานยนต์ ระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน 2565 จะเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้นำเข้าอาร์เจนตินาเพื่อได้พบปะกับผู้ส่งออกไทยโดยตรง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบัวโนสไอเรส ได้ประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ Zoom กับผู้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์หลายราย อาทิ บริษัท Toyota Argentina บริษัท Casa Jonte บริษัท Argenta Autoparts ตลอดจนหอการค้ารถจักรยานยนต์ต่างๆ อาทิ หอการค้าผู้ผลิตรถจักรยานยนต์อาร์เจนตินา CAFAM (Chamber of Motorcycle Manufacturers of Argentina) เพื่อเชิญเข้าร่วมเจรจาการค้าออนไลน์ OBM และให้ความช่วยเหลือในการนำเข้าที่ครอบคลุมสินค้ามากมาย ได้แก่ ยางรถยนต์ กันชน เครื่องยนต์ ไฟรถยนต์ เครื่องมือปั๊ม จิ๊กเชื่อม และชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ เป็นต้น

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบัวโนสไอเรส (เมษายน 2565)
1. www.Clarin.com. “Sector automotor Las pick-up ganan terreno y ya representan casi el 25% del mercado”, by Mariano Zalazar, April 5, 2022
2. www.Lanacion.com.ar “Invierten $150 millones para duplicar la producción de motos y exportar”, by Pablo Ortega, April 7, 2022

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2