
วิกฤตความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) กำลังเลวร้ายลง เนื่องจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อของราคาอาหารและค่าเงินอ่อนตัว รวมถึงปัญหาการก่อการร้ายและภัยธรรมชาติ อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม ดินถล่ม ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจน ทำให้พื้นที่เพาะปลูกและความสามารถในการผลิตอาหารของ MENA ลดลง วิกฤตดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อประชากรของ MENA หลายล้านคน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศ ที่มีปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และความขัดแย้งเป็นทุนเดินอยู่แล้ว ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านอาหารทั้งภูมิภาค
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี (UAE) จึงเร่งส่งเสริมทำการเกษตร ในรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นการเกษตรในร่ม ที่สามารถปลูกพืชผักท่ามกลางทะเลทรายอันร้อนจัดได้ตลอดปี อาทิ การทำฟาร์มแนวตั้ง (Vertical Farming) การปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน (Hydroponics) หรือการปลูกพืชในน้ำที่มีธาตุอาหาร การปลูกพืชระบบรากแขวน อยู่ในอากาศ (Aeroponic) และการปลูกพืชร่วมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaponics) ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานอาหาร ที่คาดว่ามันจะส่งผลให้สามารถผลิตอาหาร ที่มีคุณค่าทางโภชนาการแต่ประหยัดน้ำและลดการใช้พลังงาน อันนำไปสู่การจัดการในรูปแบบ ที่ไม่เหลือทิ้งในภาคการเกษตร (Zero Waste) ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่อย่างยั่งยืน
ในอนาคต UAE จะนำการเกษตรแบบ Indoor Farming มาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น การนำเข้าผักและผลไม้บางชนิดจากต่างประเทศจึงมีแนวโน้มลดลง โดยผักและผลไม้ ที่นำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ แอปเปิ้ล แพร์ องุ่น ส้ม หัวหอมแขก แครอท มะเขือเทศ และมันฝรั่ง
ขณะนี้ทางรัฐบาล UAE ได้กำหนดผักสำหรับการพัฒนาการเกษตรแบบ Indoor Farming และ Outdoor Farmimg ได้แก่ ผักกินใบ มะเขือเทศ แตงกวา พริกหวาน และมะเขือม่วง จึงยังไม่ส่งผลกระทบ ต่อการส่งออกไทยในอนาคต
โดยในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าผักผลไม้สดและสินค้ากสิกรรมไปยูเออีมูลค่ารวม 2,675 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 76.8) และปี 2566 (เดือนมกราคม) มีมูลค่า 124 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 3.3) ได้แก่ ผลไม้สด (47%) ข้าว (19%) สินค้ากสิกรรมอื่น ๆ (16%) และผักสด (14%)
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัย หรือข้อซักถาม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าได้ที่ https://ditip-overseas.com
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ