การบริโภคช็อกโกแลตในญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงต้นทุนโลจิสติกส์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับปริมาณประชากรญี่ปุ่น ทำให้ปริมาณการจำหน่ายสินค้าน้อยลง แต่ถึงแม้การจำหน่ายสินค้าช็อกโกแลตจะได้รับผลกระทบ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมช็อกโกแลตกลับมองว่าตลาดจะฟื้นตัวโดยเร็ว และกลับสู่แนวโน้มขยายตัวอีกครั้ง เนื่องจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การมุ่งไปสู่ตลาดสินค้าพรีเมียม และความต้องการสินค้าประเภทขนมเพื่อสุขภาพ ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้คนไม่สามารถออกนอกบ้านเพื่อออกกำลังกายได้ ส่งผล ให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป หันมานิยมขนมที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้น


หนึ่งในช็อกโกแลตที่กำลังได้รับกระแสนิยมอย่างมากในญี่ปุ่นคือ ช็อกโกแลต ชนิด Cacao-rich เพราะมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์สูงต่อสุขภาพ นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตมีการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ ให้แปลกตาให้มีลักษณะโดดเด่นมากกว่าเดิม เช่น มีรูปดาราคนดังหรือตัวการ์ตูน จากการที่ผู้บริโภคญี่ปุ่นสัมผัสกับวัฒนธรรมย่อย (Subcultures) ใหม่ ๆ จากสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมังงะ (Manga) เพลงหรือภาพยนตร์ อีกทั้ง ผู้ผลิตยังได้พยายามเรียกร้องความสนใจโดยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษรีไซเคิลสำหรับสินค้าช็อกโกแลต หรือการเพิ่มเครื่องหมาย Eco Mark ลงบนบรรจุภัณฑ์เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค และสนับสนุนให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรการในการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ในการส่งเสริมความยั่งยืนของสภาวะแวดล้อมของโลก


แม้ว่าประเทศไทยยังไม่ได้ส่งออกช็อกโกแลตเป็นหลัก แต่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Nestle ได้จับตามองโอกาสของสินค้าไทยที่ใช้วัตถุดิบหลักภายในประเทศและผลิตส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ สามารถตอบสนองกระแสความต้องการสินค้าคุณภาพดีและยั่งยืนให้ได้ โดยปัจจุบันมีฐานการผลิต ในภาคเหนือของไทย อย่างจังหวัดลําปาง ได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงถือเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่จะสามารถขยายตลาดการส่งออกไทยให้กว้างขึ้น


ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาพฤติกรรมและรสนิยมของผู้บริโภคญี่ปุ่น ซึ่งมักจะสนใจสินค้าใหม่ ๆ และดีต่อสุขภาพ จึงต้องพัฒนาช็อกโกแลตที่มีความแปลกใหม่ ใช้วัตถุดิบที่มีสารอาหาร เป็นประโยชน์ ต่อสุขภาพ เน้นการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน เพื่อใช้เป็นจุดขาย รวมทั้งยกระดับคุณภาพและกำหนดระดับราคาที่เหมาะสม


ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองโอซากา รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าได้ที่ https://ditip-overseas.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองโอซากา