ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อ บวกกับความผันผวนทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสประหยัดค่าใช้จ่ายกันมากขึ้น ส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจแฟชั่นที่ปกติแล้วจะขายดีในช่วงลดราคาหน้าร้อน อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยอดขายกลับลดลงกว่า 13% ในช่วงสัปดาห์แรก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้จำนวนลูกค้าที่จับจ่ายใช้สอยจะลดลง แต่ยอดซื้อของลูกค้ารายบุคคลกลับเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มผู้มีกำลังซื้อก็ตัดสินใจซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากกลัวการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในอนาคต
อีกปัจจัยสำคัญก็คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังจากสถานการณ์โควิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือผลการสำรวจผู้บริโภคชายหญิงจำนวน 6000 ราย ยังสะท้อนให้เห็นว่าร้อยละ 42 เลือกที่จะจับจ่ายกับสินค้าที่คุณภาพดีขึ้นและเลิกซื้อแบรนด์เสื้อผ้าที่เรียกว่า Fast Fashion เช่น Zara หรือ H&M ซึ่งเป็นสัญญาณของการปรับเปลี่ยนแนวคิดและมองหาการบริโภคที่ยั่งยืนกว่าเดิม
ซึ่งแนวคิดและการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังนี้ ไม่ได้เกิดแต่ในธุรกิจแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อตลาดสินค้าบริโภคแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร ด้านอาหาร ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสินค้าด้วยแนวคิดเศรษฐกิจยั่งยืน และนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ที่มาข้อมูล: ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส (18-24 กรกฎาคม 2565)
#MOC #DITP #OMD #TradeOpportunities #France #Fashion #Behavior