การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์อย่างรวดเร็วในเมืองหลวงของประเทศชิลี ส่งผลให้สถานการณ์มลพิษจากรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลชิลีโดยกระทรวงคมนาคมเริ่มเข้ามาควบคุมปริมาณมลพิษในอากาศ โดยออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการปล่อยควันเสียในภาคการขนส่ง รวมถึงการขนส่งสาธารณะในกรุงซันติอาโก ในปี 2561 “กรุงซันติอาโก” เป็นเมืองแรกในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีการยอมรับมาตรฐาน Euro VI (ค่ามาตรฐานไอเสียสำหรับรถยนต์) สำหรับระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้รถบัสไฟฟ้าต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานดังกล่าวในปี 2562 โดยชิลีตั้งเป้าหมายเป็นประเทศไร้ก๊าซคาร์บอนภายในปี 2593 รถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นส่วนสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายประเทศไร้ก๊าซคาร์บอนดังกล่าว

ชิลีมีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต่อรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ตั้งแต่ปี 2560 โดยตั้งเป้าหมายให้มีการใช้ รถยนต์โดยสารไฟฟ้า ร้อยละ 40 ของรถยนต์ทั่วประเทศ และยานยนต์ขนส่งสาธารณะใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 100 ภายในปี 2583 จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานชิลี ณ เดือนกรกฎาคม 2564 รถยนต์ไฟฟ้ามีจำนวนรวม 2,164 คัน ในจำนวนนี้รวมถึงรถยนต์ที่มีการใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริดจ์ที่มีการชาร์จไฟฟ้าภายนอก และรถบัสไฟฟ้าที่ใช้ในเขตเมือง ทั้งนี้ รถบัสไฟฟ้าในชิลี จำนวน 841 คัน ถือว่ามีจำนวนมากที่สุดรองจากประเทศจีน นอกจากนี้ ชิลีมีสถานีสำหรับชาร์จไฟฟ้ารถบัส จำนวน 22 แห่ง ซึ่งสามารถขนส่ง ประชาชนได้ประมาณ 6 แสนคน จาก 17 เมือง ซึ่งในปีนี้รัฐบาลมีแผนที่จะขยายไปยังเมืองอื่น ๆ ด้วย อาทิเทมูโค (Temuco) คอนเซปซิออน (Concepción) และอันโตฟากาสตา (Antofagasta)

นอกจากแผนยุทธศาสตร์ชาติต่อรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลได้ออกมาตรการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ความตกลงด้านรถยนต์ไฟฟ้าระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 85 บริษัท ซึ่งผู้แทนจากส่วนดังกล่าวจะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มจำนวนรุ่นของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาด การเพิ่มจำนวนเครือข่ายของจุดชาร์จไฟฟ้า การเพิ่มจำนวนบุคลากร และการส่งเสริมให้มีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ 2) กฎหมายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ สร้างแรงจูงใจแก่บริษัทในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ให้สิทธิพิเศษทางภาษีในการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างมาตรฐานการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นสำหรับรถยนต์ใหม่ รวมทั้งการควบคุมการทำงานร่วมของระบบการชาร์จไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและเชื่อมโยงระบบที่จะทำให้ผู้ใช้รถยนต์สามารถชาร์จไฟฟ้าในที่สาธารณะได้ ตัวอย่างของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านรถยนต์ไฟฟ้าในชิลี อาทิ บริษัทมิชลินที่ประกาศร่วมทุนกับ Sweden’s Enviro ในการสร้างโรงงานรีไซเคิลยางรถยนต์แห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะเริ่มดำเนินการสร้างในต้นปี 2566 ซึ่งจะสามารถรีไซเคิลยางรถยนต์ได้ถึง 30,000 ตันต่อปี

เป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคลาตินอเมริกา

ภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนประสบทั้งโอกาสและความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสภาพทางสังคมรวมทั้งความแตกต่างด้านเชื้อชาติและรสนิยมที่มีส่วนในการกำหนดความหลากหลายของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งโอกาสในการเติบโตทั้งด้านการผลิตและความต้องการในแต่ละประเทศ

จากข้อมูลของสมาคมรถยนต์แห่งชาติของชิลี ยอดขายรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์มีจำนวน 405 คัน เฉพาะในเดือนสิงหาคม 2564 นอกจากนี้ จากข้อมูลของ EY Mobility Consumer Index (MCI) ชาวชิลีกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรทั้งหมดมีการวางแผนซื้อรถยนต์ใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า

กรุงซันติอาโก กรุงโบโกตา และกรุงเม็กซิโกซิตี้ เป็นเมืองที่มีระดับการพัฒนาของการขนส่งสาธารณะที่ใช้ระบบไฟฟ้ามากที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา นอกจากนี้ รัฐบาลเม็กซิโกตั้งเป้าหมายให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฮบริดถึงร้อยละ 50 ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2583 และร้อยละ 100 ในปี 2593 ในขณะที่ ประเทศโคลอมเบียมีการกำหนดภาษีร้อยละ 0 สำหรับการรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการนำเข้าในปี 2562 – 2565

ตามแผนภาพที่ 1 หลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ได้แก่ บาร์เบโดส ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา เอกวาดอร์ เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนต่อการเพิ่มจำนวนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

แผนภาพที่ 1

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบให้การดำเนินกิจกรรมทาง เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งด้านการผลิต และโลจิสติกส์ ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และยอดขายรถยนต์มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 80 ต่อปี โดยความต้องการส่วนใหญ่คือรถยนต์ประเภทอเนกประสงค์ (Sports Utility Vehicle: SUV) และรถกระบะ ทั้งนี้ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ชิลีมียอดขายรถยนต์จำนวน 390,964 คัน

ปัจจุบัน แม้ว่าชิลีจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งสาธารณะอย่างกว้างขวางตามยุทธศาสตร์ชาติต่อรถยนต์ไฟฟ้า แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายเท่าที่ควร จากแผนภาพที่ 2 Monthly evolution แสดงให้เห็นว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 117 คัน ในขณะที่ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มียอดขายเพียง 54 คัน อย่างไรก็ดี การที่ชิลีจะบรรลุเป้าหมายให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ร้อยละ 100 ภายในปี 2583 ยังคงต้องรอดูกันต่อไป

แผนภาพที่ 2

Monthly evolution

บทวิเคราะห์ / ความเห็น

ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก โดยปี 2562 ไทยผลิตและส่งออกยานยนต์ อันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 11 ของโลก มูลค่าการส่งออก 1.3 ล้านล้านบาท โดยประเทศที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และอินเดีย อย่างไรก็ดี โอกาสของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังคงมีอยู่มาก เนื่องจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) มีมาตรการเปิดการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และกิจการเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก รวมทั้งขยายเวลาและปรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันใน ปัจจุบัน นอกจากนี้ จากการประชุมประจำปี 2564 เพื่อรายงานความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะนำมาใช้ในปี 2566-2570 นั้น ได้มีการกำหนดแนวทางให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่สำคัญของโลก ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับการเติบโตของความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งนอกจากจะเป็นโอกาสของการขยายการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นโอกาสสำหรับชิ้นส่วน อะไหล่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากยาง และยางรถยนต์ด้วย และหากไทยมีความพร้อมทั้งนโยบาย และศักยภาพการผลิต การขยายการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนไปยังต่างประเทศก็มี ความเป็นไปได้อย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้

ที่มาข้อมูล : รายงานข่าวเด่นจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก (ต.ค. 2564)
www.emol.com, www.chilereports.cl, www.movimentistas.com

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2