ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกามีความต้องการบริโภคข้าวที่มีกลิ่นหอม เช่น ข้าวบาสมาติ และข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และข้าวหอมที่ปลูกได้ในสหรัฐฯเองสามารถตอบสนองความต้องการได้ไม่ถึงร้อยละ 5 ของการบริโภค ดังนั้นจึงต้องอาศัยการนำเข้าเป็นสำคัญ โดยข้าวหอมมะลินั้นมีการนำเข้าจากประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา
ทั้งนี้ รัฐเท็กซัสมีความพยายามที่จะปลูกข้าวเพื่อตอบสนองการบริโภคภายในประเทศ เป็นข้าวเมล็ดยาว และนักวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวกำลังพยายามวิจัยและพัฒนาข้าวหอมสายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะกับสภาพอากาศรัฐเท็กซัส
นอกจากนี้ยังพยายามวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีความเข้มข้นของ Amylose สูงเพื่อผลิตข้าวสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วนเกินขนาด และโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่
อย่างไรก็ดี ด้วยความต้องการบริโภคข้าวหอมจากประเทศเอเชียในตลาดสหรัฐฯที่เติบโตส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งนำเข้าข้าวที่เติบโตมากที่สุดของสหรัฐฯ โดยในปี 2019/20 มีการนำเข้าข้าวเพิ่มจากไทยมากขึ้นถึง 29% โดย 80-85% เป็นการนำเข้าข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง และในปี 2021 มีการนำเข้าข้าวจากไทยมากถึง 543,710 ตัน
สาเหตุหลักคือ ประเทศสหรัฐฯฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะรัฐแคลิฟอร์เนียมีผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายเอเชียน-อเมริกัน จึงมีความคุ้นเคยต่อการบริโภคข้าวหอมจากประเทศเอเชีย
อย่างไรก็ดี การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิของสหรัฐฯหากประสบความสำเร็จ ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบด้านส่วนแบ่งการส่งออกข้าว ดังนั้น ประเทศไทยและผู้ประกอบการส่งออกข้าวไทยอาจต้องพิจารณาการเจาะตลาดผู้บริโภคสหรัฐฯกลุ่ม Mainstream ให้มากยิ่งขึ้น เช่น
ลดปริมาณการบรรจุให้เล็กลงเพื่อให้เหมาะกับผู้ที่ไม่ได้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก
เจาะตลาดกลุ่มลูกค้าสถาบันเช่น โรงแรม เรือสำราญ ให้มากยิ่งขึ้น
สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธืและกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Millennials และ GenZ เพื่อสร้างฐานผู้บริโภครุ่นต่อไปในอนาคต
ที่มาข้อมูล: ข่าวประจำสัปดาห์ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแองเจลิส