ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของภูมิภาคตะวันออกกลาง และสามารถฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวด้วยการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจและสังคม ภายในปี 2573 เพื่อไม่ให้ประเทศพึ่งพารายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียว และยังเป็นการสร้างงานใหม่ซึ่งช่วยปฏิรูปประเทศไปในทิศทางใหม่ๆหลากหลายมิติ
ในขณะนี้ยูเออีได้เดินหน้าเจรจาตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศที่รวมทั้งประเทศไทย เพื่อพัฒนาให้ประเทศกลายเป็นฐานการผลิตและส่งออกต่อของสินค้าจากประเทศต่างๆทั่วโลก โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ยูเออี และอินโดนีเซียได้ลงนามข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ทำให้มีการประมาณการว่าข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า (จากสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน) ระหว่างกันจากปัจจุบัน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้เป็น 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 5 ปี
สำหรับประเทศไทย ยูเออี เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง มูลค่าการค้าระหว่างไทยและยูเออีมีมูลค่ารวม 283,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 124.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ทั้งนี้สินค้าและบริการของยูเออีและไทยมีลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อกันมากกว่าแข่งขันกัน
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยูเออีได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เครื่องประดับอัญมณี ไม้และผลิตภัณฑ์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ จึงนับเป็นโอกาสดีของไทยในการพิจารณาจัดทำความตกลง CEPA เพื่อขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันต่อไป