จากรายงานของหอการค้าบริการและการท่องเที่ยวชิลี (Chilean National Chamber of Commerce, Services and Tourism: CNC) ระบุว่ายอดขายสินค้าปลีกในเขตเมืองหลวง (Metropolitan region: RM) มีการขยายตัวถึงร้อยละ 32.4 ในปี 2564 โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการผ่อนคลายมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวได้ปัจจัยสนับสนุนจากการที่รัฐบาลชิลีให้ประชาชนสามารถถอนเงินประกันสังคมในกองทุนการว่างงานจำนวนร้อยละ 10 สำหรับใช้สอยเพิ่มขึ้น และการลดหย่อนภาษีในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้อำนาจการซื้อประชาชนโดยรวมเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าเกือบ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ  นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ชาวชิลีมีการจับจ่ายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 (แผนภูมิที่ 1)

แผนภูมิที่ 1: การค้าปลีกของสินค้าในเขตเมืองหลวง (Index average 2018=100)

ที่มา: หอการค้าบริการและการท่องเที่ยวชิลี (Chilean National Chamber of Commerce, Services and Tourism: CNC)

จากข้อมูลแผนภูมิที่ 2 ยอดขายเสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะเสื้อผ้าสตรีมีการขยายตัวสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าอื่น ซึ่งในเดือนธันวาคม 2564 มีการขยายตัวร้อยละ 52.1 และในส่วนของรองเท้า มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.6 ในเดือนธันวาคม 2564

แผนภูมิที่ 2: ยอดขายปลีกสินค้าในหมวดที่มีการขยายตัวในเดือนธันวาคม 2564

Retail sales per sector in the RM
ธันวาคม  2564/2563 (% การเปลี่ยนแปลงรายปี)
Retail sales per category in the RM
ธันวาคม 2564/2563 (% การเปลี่ยนแปลงรายปี)

จากข้อมูลแผนภูมิที่ 3 ยอดขายเสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะเสื้อผ้าสตรีในช่วงเดือนเดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 มีการขยายตัวสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 104.7  ในส่วนของรองเท้า มีการขยายตัวในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.9

แผนภูมิที่ 3: ยอดขายปลีกสินค้าในหมวดที่มีการขยายตัวช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2564

Retail sales RM per sector
(% var. period)
Retail sales per category in the RM
(% var. period)

ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุขของชิลี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ส่งผลให้ประชาชนเริ่มซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในหมวดของชำ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า รองเท้า และเครื่องแต่งกาย เนื่องจากในช่วงการบังคับใช้มาตรการกักตัวที่บ้าน ประชาชนให้ความสนใจซื้อสินค้าดังกล่าวน้อยลง

จากข้อมูลในตารางที่ 1 ชิลีนำเข้าเสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย และรองเท้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2563 – 2564 ทำให้ไทยอยู่ในลำดับ 9 ที่ชิลีนำเข้าสินค้าเสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย (จากเดิมไทยอยู่ในลำดับที่ 23) และในส่วนของรองเท้า แม้จะนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นแต่ไทยอยู่ในลำดับ 23 ที่ชิลีนำเข้ารองเท้า (จากเดิมไทยอยู่ในลำดับที่ 21)

ตารางที่ 1:  การนำเข้าเสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย และรองเท้าของชิลี ระหว่างปี 2563 – 2564

  เสื้อผ้า / เครื่องแต่งกาย รองเท้า
การนำเข้ารวมจากทั่วโลก ปี 2564 (CIF USD) 15,092,462
5 ประเทศแรกที่นำเข้าสูงสุด:
– จีน 55.67%
– Unknown 11.56%
-เวียดนาม 7.21%
– เปรู 4.22%
– บังคลาเทศ 2.99%
909,317,811
5 ประเทศแรกที่นำเข้าสูงสุด:
– จีน 61.03%
– เวียดนาม 17.63%
– อินโดนีเซีย 6.20%
– บราซิล 3.77%
– Unknown 1.84%
การนำเข้ารวมจากไทย ปี 2564 (CIF USD) 203,138
ไทยอยู่ในลำดับที่ 9 จาก 43 ประเทศด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.35
699,528
ไทยอยู่ในลำดับที่ 23 จาก 71 ประเทศด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.08
การนำเข้ารวมจากทั่วโลก ปี 2563 (CIF USD) 15,660,191   594,479,334
การนำเข้ารวมจากไทย ปี 2563 (CIF USD) 26,034
ไทยอยู่ในลำดับที่ 23 จาก 45 ประเทศด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.17
770,263
ไทยอยู่ในลำดับที่ 21 จาก 66 ประเทศด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.13

 

บทวิเคราะห์ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อประเทศไทย

การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีรวม 30 ฉบับ กับ 67 ประเทศของชิลี เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้ง การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำเข้าสินค้าภายใต้ความตกลงดังกล่าวทำให้ประชาชนในประเทศมีทางเลือกสำหรับสินค้าที่หลากหลายขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคในปัจจุบันสามารถค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้โดยง่ายทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกใจที่ยอดขายสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะเสื้อผ้า / เครื่องแต่งกาย และรองเท้าในชิลีจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19

ผู้ประกอบการในท้องถิ่นของชิลีมีการปรับตัวรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มการนำเข้าวัตถุในการผลิตจากต่างประเทศ และนำเข้าสินค้าจากประเทศเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการชิลีมีแนวโน้มให้ความใส่ใจมากขึ้นต่อคุณภาพของสินค้า ทั้งนี้ ผู้ผลิตจากต่างประเทศเห็นว่าตลาดเสื้อผ้า / เครื่องแต่งกาย และรองเท้าของชิลีมีโอกาสเติบโตได้มากในอนาคต และผู้ผลิตดังกล่าวยังสามารถใช้ชิลีเป็นประตูการค้าจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา นอกจากนี้ จากข้อมูลสำมะโนประชากรปี 2563 ของชิลี พบว่าประชากรส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 15 – 64 ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประชากรกลุ่มนี้เป็นวัยทำงานและมีความสามารถในการจับจ่าย แม้ตลาดชิลีจะมีขนาดเล็ก แต่จากข้อมูลของธนาคารโลก ชิลีอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงและเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา รวมทั้ง การบริโภคของภาคเอกชนมีการขยายตัวโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้า / เครื่องแต่งกาย และรองเท้า โดยชิลีนำเข้าเสื้อผ้า / เครื่องแต่งกาย และรองเท้าส่วนใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย

แนวโน้มความต้องการสินค้าของผู้บริโภคชิลีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดกลุ่มเสื้อผ้า / เครื่องแต่งกาย และรองเท้า โดยผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี เนื่องจากสินค้าในกลุ่มดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีการนำเข้าแล้ว อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการและนักออกแบบเสื้อผ้าของไทยจะต้องผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการของผู้บริโภคชิลีที่ต้องการการออกแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร (unique piece) และควรสร้างความแตกต่างของสินค้าไทยให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคชาวชิลี เนื่องจากชาวชิลีชื่นชอบการออกแบบเสื้อผ้าร่วมสมัย และเปิดรับรูปแบบการออกแบบใหม่ ๆ ดังนั้น การนำเสนอรูปแบบการออกแบบเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัย การออกแบบที่ทันสมัย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถสวมใส่ได้ในหลากหลายโอกาส โดยเน้นคุณภาพของผ้าและการตัดเย็บ และการใช้ผ้าไทยที่มีความละเอียดประณีตจะเป็นโอกาสให้เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มของไทยสามารถเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคชาวชิลีที่ต้องการความแตกต่าง

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก (กุมภาพันธ์ 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2