
กระแสความยั่งยืนกำลังมาแรง และในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ก็กำลังมุ่งมั่นที่จะเดินเส้นทางสายนี้ นำโดย Bridgestone Americas Inc. ซึ่งได้ไปกล่าวในการประชุมอุตสาหกรรมยางรถยนต์ที่มหาวิทยาลัยเคลมสันในปีนี้ว่า “เราจะต้องกลับมาคิดกันใหม่แบบให้ถึงแก่นเลยว่าเราจะใช้อะไรมาผลิตยางกันดี คิดใหม่กันแบบให้ถึงแก่นในเรื่องห่วงโซ่อุปทานสำหรับวัตถุดิบกันเลย” แล้วยืนยันว่าวัตถุดิบที่ผลิตขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ที่แท้จริง นั่นก็คือ ยางธรรมชาติตระกูล Hevea สมาคมและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้พยายามพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ จนสำเร็จไปแล้วหลายอย่าง ได้แก่ วัตถุดิบชีวภาพ การนําเขม่าดำกลับมาใช้ใหม่ และเพิ่มช่องทางตลาดให้กับยางที่หมดอายุใช้งานแล้ว ผู้ผลิตยางรายใหญ่ๆ ทั่วทั้งอุตสาหกรรมยางรถยนต์ต่างแข็งขันที่จะให้บรรลุเป้าหมายให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net-zero carbon emissions) ให้ทันในปี 2050 เส้นทางทั้ง 4 นี้ประกอบด้วย
- (Bio-based Materials) มีวัตถุดิบใหม่ๆ ที่ค้นพบจากความพยายามที่จะหาวัตถุดิบชีวภาพเพื่อมาทกแทนวัตถุดิบที่ได้มาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม นำโดย Synthos วางแผนระยะยาวเลิกใช้ถ่านหินในการผลิตโดยได้ร่วมกับ Lummus Technology และกลุ่มธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมจะหันไปใช้ บิวทาไดอีนชีวภาพในการผลิตยางสังเคราะห์แทนโดยจะเป็นยางสังเคราะห์จาก อีทานอลร้อยเปอร์เซ็นต์ และในเดือนเดียวกัน Birla Carbon และ GranBio Technologies (หุ้นส่วนในบราซิล) ได้รับทุนสนับสนุนมูลค่า 730,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเดินหน้าตั้งโรงงานและการทดลองกับถนนจริงของสารเติมแต่งยางชีวภาพจาก นาโนเซลลูโลสที่นำมาทำส่วนผสมของยางก่อนการผลิต (nanocellulose dispersion composite rubber masterbatch) ที่จะช่วยให้ลดการสึกหรอและประหยัดน้ำมัน LanzaTechh NZ Inc. และ Sumitomo Riko ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีในการแปรรูปขยะยางให้กลายเป็น Isoprene ซึ่งจะมีตลาดขนาด 4 พันล้านดอลลาสหรัฐภายในปี 2025
- ขยายฐานการสลายขยะยางด้วยความร้อน (Pyrolysis)ในขณะที่ผู้ผลิตยางหาสิ่งที่จะนำมาผลิตยาง Pyrum Innovations AG ก็ขยายกำลังการผลิตในการนำขยะยางกลับมาใช้ใหม่ โดยร่วมกับ Siemens AG ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและร่วมกับ Continental เพื่อป้อนยางที่หมดอายุใช้งานแล้วเข้าโรงงานเพื่อผลิตเป็นน้ำมันจากการแยกสลายยางด้วยความร้อนที่ปรับปรุงคุณภาพแล้ว (Optimized Pyrolysis Oil) ส่งให้หุ้นส่วนในสเปน Sieener Ingenieros SL ไปแล้ว 6 หมื่นลิตรเพื่อใช้ผลิตยางใหม่ และยังร่วมทุนกับ Revalit GmbH และอีกหลายบริษัทตั้งโรงงานขนาดกำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อปีแห่งแรกในเยอรมันซึ่งขณะนี้ได้รับอนุญาตให้เริ่มดำเนินงานได้แล้ว และยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ Unitank (ผู้ให้บริการบริหารคลังน้ำมัน) จะสร้างโรงงานขนาดกำลังผลิต 6 หมื่นตันต่อปีอีก 10 โรงงานภายในปี 2030
- เขม่าดำฟื้นสภาพ (Recovered Carbon Black หรือ rCB) Michelin และ Bridgestone ร่วมกันแถลงผลการวิจัยในการประชุมการนําเขม่าดํากลับมาใช้ใหม่ซึ่งจัดโดย Smither ว่าตลาดของ rCB อาจมีขนาดถึง 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 ซึ่งยักษ์ใหญ่ทั้งสองตั้งใจจะกำหนดมาตรฐานคุณภาพของ rCB และประสานให้หน่วยงานที่กำกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งเมื่อทำสำเร็จก็จะสามารถแปรรูปยางที่หมดอายุใช้งานแล้วให้เป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงมากพอจะนำมาใช้ผลิตยางใหม่ได้ นอกจากนี้ ยังมี Orion Engineered Carbons ได้พัฒนาสารเขม่าดำชนิดใหม่ขึ้นมาจากน้ำมันที่ได้จากการแยกสลายยางที่หมดอายุด้วยความร้อนโดยตั้งชื่อไว้ว่า Ecorax Nature 200 หลังเปิดตัวรุ่น 100 ไปเมื่อปีที่แล้ว
4.เน้นที่ยางหมดอายุการใช้งาน (End-of-Life Tires หรือ ELT) สมาคมผู้ผลิตยางสหรัฐฯ ได้เผยถึงข้อกังวลที่มีปริมาณขยะยางมีการขยายตัว (ร้อยละ 13) เร็วกว่าระดับความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ (ร้อยละ 6) และได้ผลักดันให้สภาคองเกรสออกกฎหมายเพื่อกระตุ้นให้โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนำขยะยางไปใช้งานให้มากขึ้น ในขณะที่สมาคมฯ พยายามหาตลาดรองรับขยะยาง บรรดาผู้ผลิตต่างก็พากันพัฒนาและเข็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการนำขยะยางกลับมาใช้งานออกสู่ตลาดไปพร้อมๆ กันด้วยตอบโจทย์เดียวกันนี้ โดย Bridgestone Corp. ทำโครงการร่วมทุนศึกษาการนำสารเคมีจากขยะยางกลับมาใช้ใหม่ Sumitomo ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำสมัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยโตโฮกุ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน Eneos Corp. และ JGC Holdings Corp พัฒนาเทคโนโลยีนำสารเคมีกลับมาใช้เพื่อผลิตIsoprene คุณภาพสูง Bridgestone Americas Inc. ร่วมกับLanzaTech พัฒนาเทคโนโลยีการนำขยะยางกลับมาใช้ Apollo Tyres Ltd และ Continental ร่วมกับธุรกิจรีไซเคิลขยะยาง Tyromer Inc. นำเอายางรีไซเคิลและขยะยางกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตยางของตน Liberty Tire Recycling LLC ร่วมกับ Bolder Industries Inc. โดยจะส่งขยะยางประมาณ 3 ล้านตันต่อปีให้ไปใช้ในกระบวนการขุดเจาะเชื้อเพลิงจากฟอสซิลและเหมืองเหล็กกล้าและเมื่อมีการขยายกำลังผลิตก็อาจเพิ่มไปอีกถึง 6 ล้านตันต่อปี
ผู้ประกอบการเหล่านี้รวมถึงรายอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนต่างให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนทรัพยากรในกิจการของตนเองด้วยเป้าหมายร่วมคืออนาคตที่ยั่งยืน มีคำถามว่า ผลิตภัณฑ์ที่แม้จะใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืนก็จริง แต่หากสุดท้ายต้องมาลงเอยที่กองขยะ ผลิตภัณฑ์นั้นจะนับว่าตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนได้จริงหรือ ในความเป็นจริงแล้ว เส้นทางสายนี้ มีครึ่งทางที่เป็นความยั่งยืน แต่อีกครึ่งทางที่เหลือต้องเป็นการหมุนเวียนทรัพยากร ดังนั้น หากจะตัดสินว่าสิ่งใดตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนได้หรือไม่ ก็คงต้องถามว่าสิ่งนั้นสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อีกหรือไม่ด้วย