
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ที่ประชุมสภากิจการทั่วไป (General Affairs Council GAC) ประกอบด้วยรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกิจการด้านการต่างประเทศในภูมิภาคยุโรปจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีมติเป็นเอกฉันท์ อนุมัติสถานะผู้สมัคร (Candidate Country) ให้แก่ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาอย่างเป็นทางการ
จากมติครั้งนี้ บอสเนียฯ ยังต้องดำเนินการในประเด็นสำคัญ 14 ประการ (Priorities) ที่คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดไว้เมื่อปี 2562 แต่ยังไม่บรรลุเป็นผลสำเร็จ รวมถึงการปฏิรูป 8 ด้าน (Key Reforms) ซึ่งครอบคลุมด้านประชาธิปไตย หลักนิติธรรม สิทธิขั้นพื้นฐาน เสรีภาพสื่อมวลชน การจัดการพื้นที่บริเวณชายแดน และ
การปฏิรูประบบราชการ
เมื่อบรรลุเป็นผลที่น่าพึงพอใจแล้ว บอสเนียฯ จะสามารถเริ่มกระบวนการเจรจากับผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ โดยเมื่อเริ่มกระบวนการเจรจาแล้ว บอสเนียฯ ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์โคเปนเฮเกน (Copenhagen Criteria) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ประเทศผู้สมัครทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม ประกอบด้วย มีการปกครองแบบประชาธิปไตย เคารพในหลักสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองชนกลุ่มน้อย ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด มีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีทางการเมืองและเศรษฐกิจต่างๆ ในการเป็นสมาชิกสหภาพฯ ยึดถือเป้าหมายในการบรรลุความเป็นเอกภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และการเงินของสหภาพฯ รวมถึงการรับประเทศสมาชิกใหม่ต้องไม่เกิดผลกระทบต่อระบบการบูรณาการยุโรป นอกจากนี้ บอสเนียฯ ต้องแก้กฎหมายและนโยบายบริหารประเทศ 35 หมวดให้สอดคล้องกับระบบกฎหมายของสหภาพฯ เช่น การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตเสรี การปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ การลดการผูกขาดของภาครัฐ การสนับสนุนการแข่งขันของภาคเอกชนในตลาด การปรับโครงสร้างอัตราภาษี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนโยบายทางการทหาร เป็นต้น
อนึ่ง บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี Stabilisation and Association Agreement (SAA) กับคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อปี 2558 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเริ่มปรับโครงสร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด กระบวนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเปิดเสรีให้แก่สินค้าและบริการจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และได้ยื่นใบสมัครสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อปี 2559
คณะกรรมาธิการยุโรปได้มีหนังสือตอบกลับรัฐบาลบอสเนียฯ อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2562 โดยกำหนดประเด็นปฏิรูปสำคัญ 14 ประการให้บอสเนียฯ ปฏิบัติตามในชั้นแรก ทว่าบอสเนียฯ ประสบปัญหา ขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศมายาวนาน จึงทำให้การดำเนินการล่าช้าออกไป ไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขชั้นต้นได้ตามกำหนด จึงยังคงสถานะผู้สมัครที่มีศักยภาพ (Potential Candidate) และยังไม่สามารถเริ่มกระบวนการเจรจาและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของสหภาพยุโรป เพื่อเข้าเป็นสมาชิกได้ ทว่าบอสเนียฯ ยังคงได้รับงบประมาณพัฒนาเศรษฐกิจจากสหภาพยุโรปภายใต้กรอบการดำเนินงาน Western Balkans Investment Framework, IPA II ช่วงปี 2557-2563 และ IPA III ช่วงปี 2564-2570 (Instrument for Pre-accession Assistance หรือการเตรียมตัวเข้าเป็นรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป ระยะที่สองและสาม) เพื่อสนับสนุนการปฏิรูประบบในประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านในด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพยุโรป เช่น การปกครองระบอบประชาธิปไตย การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การศึกษา การพัฒนาพื้นที่ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการพัฒนาระบบคมนาคมภายในประเทศและกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
ข้อคิดเห็นของ สคต.
มติครั้งนี้สอดคล้องกับแถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรป ณ การประชุม EU-Western Balkans Summit ณ กรุงติรานา ประเทศแอลเบเนีย เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพฯ ของประเทศในภูมิภาคบอลข่านตะวันตก โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประเทศทั้งหก ได้แก่ มาซิโดเนียเหนือ โคโซโว บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร แอลเบเนีย และเซอร์เบีย ดำเนินการสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และปฏิบัติตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรปได้เร็วขึ้น
การได้รับสถานะผู้สมัครสมาชิกสหภาพยุโรปนี้ เป็นประโยชน์กับบอสเนียฯ กล่าวคือ สถานะนี้เป็นก้าวแรกอย่างเป็นทางการสู่การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปในประเทศ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า สิทธิมนุษยชน เป็นต้น ตลอดจนเปิดทางสู่ความร่วมมือกับสหภาพยุโรปและพันธมิตรในทุกมิติ อย่างไรก็ตาม ข้อพิจารณาสำคัญ คือการปฏิรูปประเทศและแก้กฎหมายนั้นมักใช้เวลานานหลายปี จึงไม่อาจคาดหวังผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาอันสั้น สคต. บูดาเปสต์จึงคาดว่าในระยะสั้น ประเทศคู่ค้าของบอสเนียฯ จะให้ความสนใจบอสเนียฯ ในฐานะตลาดที่มีศักยภาพมากขึ้น ในระยะยาว กระบวนการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจบอสเนียฯ เติบโต และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศได้
ส่วนประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสหภาพยุโรปนั้น มีทั้งมิติเศรษฐกิจ คือโอกาสในการลงทุนและขยายตลาดที่กว้างขึ้น ส่วนด้านการเมือง คือการรับประกันความปลอดภัยและความมั่นคงของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ภาวะสงครามในยูเครนช่วงต้นปีนี้ เป็นตัวเร่งกระบวนการขยายสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป เนื่องจากสหภาพยุโรปตระหนักว่าการขาดเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ และการมีอิทธิพลทางการเมืองของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่านและยุโรปตะวันออก อาจเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงในลักษณะเดียวกันได้ จึงอาจเป็นภัยต่อสหภาพยุโรปซึ่งมีพรมแดนติดกับภูมิภาคเหล่านี้ได้ เห็นได้จากการเร่งอนุมัติสถานะผู้สมัครในลักษณะเดียวกันให้กับยูเครนและมอลโดวาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
จุดเด่นของตลาดบอสเนียฯ คือ บอสเนียฯ ใช้เงินสกุลมาร์กบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา หรือมักย่อว่า BAM ที่ผูกกับค่าเงินยูโร ตรึงอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 0.51 ยูโร จึงนับว่ามีความผันผวนของค่าเงินต่ำ ด้านอัตราภาษี ภาษีนิติบุคคล อยู่ที่ 10% ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 17% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปยุโรปทั้งคู่อีกทั้งบอสเนียฯ ยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) สะสมไว้มาก ณ เดือนตุลาคม 2565 บอสเนียฯ มีปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.87 แสนล้านบาท) ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ธุรกิจค้าปลีก ธนาคารพาณิชย์ โทรคมนาคม พลังงาน ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร สิ่งทอ รถยนต์ สินค้าจากไม้และโลหะ เป็นภาคส่วนธุรกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขันและได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากที่สุด โดยส่วนมากเป็นนักลงทุนจากเขตเศรษฐกิจยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ เซอร์เบีย รัสเซีย และสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ บอสเนียฯ ตั้งอยู่กลางภูมิภาคบอลข่านตะวันตก มีเส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคบอลข่านตะวันตก รวมถึงออกไปยังภูมิภาคยุโรปใต้ เช่น อิตาลี และภูมิภาคยุโรปกลาง เช่น ฮังการี ได้สะดวก ทว่าเนื่องจากบอสเนียฯ มีพื้นที่ติดทะเลจำกัด การขนส่งสินค้าทางเรือจำเป็นต้องขนส่งทางรถไฟ และไปขึ้นท่าเรือในโครเอเชียหรือมอนเตเนโกร
ในมิติการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบกับประเทศไทย สคต. บูดาเปสต์มองว่า การปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการค้าให้สอดคล้องกับกฎหมายของสหภาพยุโรปนั้น แม้จะใช้เวลานาน ทว่าจะส่งผลดีกับนักลงทุนและผู้ส่งออกสินค้า/บริการไทยที่ทำการค้ากับประเทศในสหภาพฯ และคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ในสกุลยูโรอยู่แล้ว เนื่องจากในอนาคตระบบภาษีและข้อบังคับการค้าของบอสเนียจะใกล้เคียงกับระเบียบของสหภาพฯ โดยมีการอำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างบอสเนียฯ กับสหภาพยุโรป และบอสเนียกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ
ด้านการค้า ประเทศไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับบอสเนียฯ มาตลอด โดยช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 มอนเตเนโกรเป็นคู่ค้าลำดับที่ 165 ของไทย มียอดมูลค่าการค้ารวม 461.04 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 37.24% (YoY) ตามปัจจัยฐานต่ำในปี 2564 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 340.70 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 120.34 ล้านบาท สรุปแล้วไทยได้ดุลการค้า 220.36 ล้านบาท ความร่วมมือระหว่างไทยและบอสเนียฯ ในด้านการค้าที่น่าสนใจ ได้แก่ การขยายโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป เนื่องจากบอสเนียฯมีข้อจำกัดในการผลิตอาหารและเทคโนโลยีการเกษตรด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและการลงทุนการผลิตจากต่างประเทศ รวมถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษ ยาง โลหะ และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดทวีปยุโรป แม้มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศจะยังไม่มากนัก ทว่าบอสเนียฯ มีศักยภาพในการเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเจาะตลาดภูมิภาคบอลข่านในภายต่อไป