
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาตรการยุติธรรมและกิจการภายใน (Justice and Home Affairs Council) จากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ พร้อมทั้งกรรมาธิการยุโรป (European Commissioner) ด้านกิจการภายใน งานยุติธรรม และการส่งเสริมความเท่าเทียม จำนวน 3 คน มีมติเป็นเอกฉันท์ยอมรับโครเอเชียเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 27 ของเขตเชงเก้น โดยโครเอเชียจะยกเลิกจุดผ่านแดนที่ติดกับกับสโลวีเนียและฮังการี ในวันที่ 1 มกราคม 2566 พร้อมกันกับการประกาศใช้เงินสกุลยูโรเป็นสกุลหลักของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ยอมรับโรมาเนียและบัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นในครั้งนี้ แม้คณะกรรมาธิการยุโรปจะสนับสนุนทั้งสองประเทศก็ตาม เนื่องจากเนเธอร์แลนด์คัดค้านบัลแกเรีย ส่วนออสเตรียคัดค้านทั้งโรมาเนียและบัลแกเรีย โดยให้เหตุผลว่าทั้งสองประเทศยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการคอรัปชั่นในประเทศ และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และอ้างข้อมูลของ Frontex ซึ่งเป็นหน่วยงานหน่วยงานจัดการดูแลพรมแดนภายนอกของสหภาพยุโรปว่า ในช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 จำนวนผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและผ่านประเทศในภูมิภาคบอลข่านและยุโรปตะวันออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นจำนวนกว่า 128,000 คน เพิ่มขึ้น 168% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ส่งผลให้มีจำนวนผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายในออสเตรียเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ฉะนั้น โรมาเนียและบัลแกเรียต้องยกระดับการปฏิบัติงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อป้องกันและปราบปรามการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองให้ได้ก่อน
ผู้แทนรัฐบาลโรมาเนียและบัลแกเรีย จึงได้ออกมาตอบโต้รัฐบาลออสเตรียว่าปัญหาการทุจริตในภาครัฐนั้นไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้น ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวตามเงื่อนไขของคณะกรรมาธิการยุโรป ส่วนปัญหาบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในออสเตรียนั้น ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของโรมาเนียและบัลแกเรีย เนื่องจากประเทศของตนมิได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางลักลอบเข้าเมืองดังกล่าว อีกทั้ง ทั้งสองประเทศได้ปรับปรุงระบบการตรวจคนเข้าเมืองตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรปแล้ว จึงสมควรที่จะได้เข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นเช่นกัน
อนึ่ง ความตกลงเชงเก้น (Schengen Agreement) เป็นความตกลงระหว่างประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป จำนวน 26 ประเทศ ที่อนุญาตให้พลเมืองของประเทศสมาชิกในกลุ่มเดินทางระหว่างประเทศที่เป็นภาคีข้อตกลง (เขตเชงเก้น) โดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทาง นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้พลเมืองจากประเทศที่สามที่ถือวีซ่าเชงเก้น สำหรับการพำนักระยะสั้นไม่เกิน 90 วัน (Schengen Visa) และผู้ถือบัตรพำนักของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มีสิทธิเดินทางข้ามประเทศได้เสรีภายในเขตเชงเก้น โดยไม่ต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกครั้งที่เข้าประเทศใหม่
ประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ณ ปี 2565 ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อิตาลี กรีซ ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลต้า เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน และสวีเดน ทั้งนี้ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ได้ลงนามในข้อตกลงเป็นสมาชิกเขตเชงเก้น แต่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ข้อคิดเห็นของ สคต.
การเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโครเอเชียนั้น จะทำให้ผู้เดินทางเข้าออกโครเอเชียไม่ต้องเสียเวลาตรวจเอกสารประจำตัวที่จุดผ่านแดน ส่วนพลเมืองสหภาพยุโรปสามารถเดินทางข้ามพรมแดนโครเอเชียได้โดยใช้เพียงแค่บัตรประจำตัวประชาชนที่ออกโดยหน่วยงานรัฐของประเทศของตน ไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง
มติที่ประชุมนี้จึงสอดคล้องกับเสาหลักที่หนึ่งของสหภาพยุโรป ด้านประชาคมยุโรป (European Communities) ในการเป็นตลาดเดียว (Single Market) ที่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของปัจจัยสี่ประการ อันได้แก่ ประชากร สินค้า บริการ และทุนระหว่างประเทศ และช่วยสนับสนุนการพัฒนาระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การขยายตัวของเขตเชงเก้นยังถือเป็นการเสริมความมั่นคงและประกันความปลอดภัยของชายแดนเขตเชงเก้น รวมถึงชายแดนสหภาพยุโรปด้วย ฉะนั้น ในปี 2566 โครเอเชียซึ่งจะเป็นประเทศหน้าด่านของเขตเชงเก้นในภูมิภาคบอลข่านตะวันตก จะเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือภาคีเชงเก้นในการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกันมากขึ้น ด้วยการจัดกำลังปกป้องชายแดน ปราบปรามผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ขบวนการลักลอบขนยาเสพติด การค้ามนุษย์ และสินค้าลักลอบหนีศุลกากร ตลอดจนคุ้มครองมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้อพยพ
การขยายตัวของเขตเชงเก้นครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการกลับมามุ่งให้ความสำคัญต่อกระบวนการบูรณาการยุโรปของสหภาพฯ ในแง่ของการบูรณาการในแนวดิ่ง (Vertical Integration) เพื่อพัฒนาระดับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกภายในสหภาพฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จึงมีความเห็นว่าความคืบหน้าทั้งหมดของโครเอเชียในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นฟูความร่วมมือในด้านต่างๆ ภายในสหภาพยุโรปให้กลับมามีความเข้มแข็งอีกครั้ง อันจะเป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณากรณีที่ยังมีประเทศสมาชิกบางประเทศไม่ยอมรับโรมาเนียและบัลแกเรียนั้น สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ มองว่าการตัดสินใจดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรป อาทิ การเข้าร่วมเขตเชงเก้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในโรมาเนีย บัลแกเรีย และโครเอเชีย และจะส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งสหภาพยุโรปได้รับประโยชน์ตามไปด้วย เนื่องจากปัจจัยสี่ประการข้างต้น จะสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี อีกทั้ง ประเทศทั้งสามมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดี เห็นได้จากความคืบหน้าการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ อีกทั้ง ทั้งสามประเทศมีจุดเด่น คือต้นทุนการทำธุรกิจต่ำและแรงงานมีทักษะที่อายุน้อยจำนวนมาก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งสหภาพฯ
นอกจากนี้ บริษัทชั้นนำระดับโลกจำนวนมากที่ย้ายสำนักงานออกจากรัสเซีย นับตั้งแต่การบุกรุกยูเครนของรัสเซีย ได้ย้ายมาตั้งสำนักงานใหญ่ในโรมาเนีย บัลแกเรีย และโครเอเชียมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการทำธุรกิจต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น หากทั้งสามประเทศได้เข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้น ก็จะเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ มีตำแหน่งงานมากขึ้น และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสู่ตลาดเดียวภายในสหภาพยุโรปอีกด้วย
และประการสุดท้าย โรมาเนียและบัลแกเรียเป็นสมาชิก NATO ซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้ยูเครนและรัสเซีย นับเป็นเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนั้น โรมาเนียและบัลแกเรียจึงมีส่วนร่วมสำคัญในการช่วยทั้ง NATO และสหภาพยุโรปสนับสนุนการลำเลียงความช่วยเหลือไปยังยูเครน ทั้งการขนส่งทั้งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ เงินทุน เครื่องมือแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนเสบียงและอุปกรณ์ต่างๆ
ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลโรมาเนียและบัลแกเรียจะผลักดันให้ที่ประชุมบรรจุวาระของตนในการประชุมครั้งหน้าอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 2566