วันที่ 1 มีนาคม 2565 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Office of the United States Trade Representative – USTR) ได้นำรายงาน “2022 Trade Policy Agenda & 2021 Annual Report of the President of the United States on the Trade Agreements Program” เสนอต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ตามข้อกำหนดของกฎหมาย Trade Act of 1974 ของสหรัฐฯ และ Uruguay Round Agreements Act ของ World Trade Organization และได้เปิดเผยรายงาน 312 หน้าต่อสาธารณชน โดยมีสาระสำคัญดังนี้ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ Microsoft Word – 2022 Trade Policy Agenda and 2021 Annual Report COMPILATION (ustr.gov))

นโยบายการค้าสหรัฐฯ 2022 ตอกย้ำความสำคัญในประเด็นหลัก ได้แก่

  1. สิทธิแรงงาน โดยสหรัฐฯ พร้อมที่จะใช้ข้อตกลงทางการค้า ความสัมพันธ์กับคู่ค้า และเครื่องมืออื่นๆ สนับสนุนสิทธิของแรงงานและหยุดยั้งการใช้แรงงานผิดกฎหมายและผิดศีลธรรมเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า รวมถึงแรงงานถูกบีบบังคับในอุตสาหกรรมประมงในระบบห่วงโซ่อุปทาน และแรงงานอุยกูร์ในประเทศจีน เป็นต้น สหรัฐฯ มีแผนจัดทำข้อตกลงด้านการค้าที่มีมาตรฐานสูงในเรื่องสิทธิแรงงานกับประเทศคู่ค้าสำคัญทั่วโลก รวมถึงภายใต้กรอบ WTO ด้วยมองว่าการรักษาสิทธิแรงงานในระดับสากล จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้แก่แรงงานสหรัฐฯ  นอกจากนี้ USTR จะพิจารณากำหนดมาตรการทางการค้ากับประเทศคู่ค้าเพื่อลดการใช้แรงงานบังคับในการผลิตสินค้า
  2. เร่งลดการปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รัฐบาล Biden ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ กับการต่อสู้กับวิกฤตสภาพอากาศและส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการค้าที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  3. สนับสนุนภาคการเกษตรในประเทศ รัฐบาล Biden มุ่งมั่นสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการแข่งขันอย่างยุติธรรมให้แก่ภาคการเกษตร ผ่านข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA) และกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement – TIFA) ที่สหรัฐฯ มีกับประเทศคู่ค้าทั่วโลก   
  4. สร้างรากฐานห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงในประเทศในอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ semiconductors, แบตเตอรี่สำรองพลังงาน, แร่ธาตุและโลหะสำคัญ, ยา เวชภัณฑ์และส่วนประกอบ โดยในปี 2021 ได้จัดตั้ง Supply Chain Trade Task Force นำโดย USTR เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสำคัญ รวมถึง แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใต้กรอบข้อตกลงทางการค้าในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯและของคู่ค้า
  5. จัดการกับแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายใต้หลักการ “ประชาชนคือหัวใจของเศรษฐกิจ” รัฐบาลสหรัฐฯ จะให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งรวมไปถึงการทำงานกับคู่ค้า แก้ไข ปัญหาความขาดแคลนของวัคซีนป้องกัน COVID-19 สนับสนุนให้มีการผ่อนผันเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีน และอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็นในการต่อสู้ COVID-19
  6. ปรับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน สหรัฐฯย้ำความสำคัญของนโยบายที่เน้นส่งเสริมการค้า/การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของแรงงานเป็นธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยต้องไม่ปิดกั้นโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม  ซึ่งปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจของจีนบิดเบือนกลไกตลาด บางรายการผลิตได้ในจีนเพียงแห่งเดียว บั่นทอนความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน จีนยังล้มเหลวในการดำเนินนโยบายด้านสิทธิแรงงานพื้นฐานและการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นปัจจัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก
  7. ร่วมมือกับคู่ค้าสำคัญและพันธมิตรเพื่อผลักดันวาระทางการค้า ส่งเสริมการค้าที่เสรีและเป็นธรรม การเติบโตแบบยั่งยืน มีส่วนร่วมและเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าในภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ภายใต้กรอบ Indo-Pacific Economic Framework โดยจะดำเนินการคู่ขนานไปกับการทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก WTO, Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ในการผลักดันประเด็นทางการค้าต่างๆ ที่อยู่ในแผนงาน
  8. สร้างความเชื่อมั่น โดยจะผลักดันการบังคับใช้ข้อตกลงทางการค้าอย่างจริงจัง และจะต่อสู้กับมาตรการหรือนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยนโยบาย/กฎระเบียบต่างๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และวัดผลได้
  9. การส่งเสริมนโยบายการค้าที่เท่าเทียมและยั่งยืน ตลอดจน มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  

II ผลงานด้านข้อตกลงทางการค้าของสหรัฐฯ ในปี 2021 ที่น่าสนใจ เช่น

  1. Generalized System of Preference (GSP):
    1. หมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 รัฐสภาสหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาต่ออายุ GSP  ระหว่างนี้ ผู้นำเข้าต้องจ่ายชำระภาษีนำเข้าก่อนและทำเรื่องขอคืนเมื่อ GSP ได้รับการต่ออายุแล้ว
    2. ปัจจุบันประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP สหรัฐฯ ประกอบไปด้วยประเทศกำลังพัฒนา 119 ประเทศและประเทศ/อาณานิคมด้อยพัฒนา 44 ประเทศ สินค้าที่ได้ประโยชน์จาก GSP เป็นสินค้า non- import sensitive ประมาณ 3,500 รายการ และอีก 1,500 รายเป็นสินค้าที่จำกัดเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้น
    3. สินค้าที่สหรัฐฯ ถือว่า เป็น import sensitive และไม่มีสิทธิได้รับ GSP คือ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป นาฬิกาเครื่องแก้วบางรายการ และถุงมือบางรายการและเครื่องหนัง
    4. ในปี 2021
      • การนำเข้าภายใต้ GSP คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศที่ได้สิทธิ GSP ส่งออกมาสหรัฐฯ โดยใช้สิทธิคิดเป็นมูลค่าเพียงแค่ร้อยละ 9.2 ของมูลค่านำเข้าของสหรัฐฯ จากประเทศสมาชิก GSP ทั้งหมด
      • การนำเข้าสินค้า GSP มีมูลค่า 18,700 ล้านเหรียญฯ เพิ่มจากปี 2020 ร้อยละ 10.4 หรือ 1,800 ล้านเหรียญฯ  แต่ลดลงจากปี 2019 ร้อยละ 12 หรือ 2,400 ล้านเหรียญฯ
      • สินค้าหลักที่นำเข้าภายใต้ GSP คือ กระเป๋าเดินทางและกระเป๋ากีฬา ถุงมือยาง สร้อยคอทองคำ ที่นอนทำจากยางหรือพลาสติก และเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่า
      • ประเทศที่เป็นแหล่งอุปทานนำเข้าสินค้า GSP มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อินโดนิเซีย ไทย กัมพูชา บราซิล และฟิลิปปินส์ ประเทศด้อยพัฒนาที่เป็นแหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญคือ กัมพูชา เมียนมา เนปาล มาลาวี และเอธิโอเปีย
  1. Section 301 of Trade Act of 1974 ระบุประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครอง หรือ ไม่เปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐฯ ในประเภทที่ต้องพึ่งพาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ผลการทบทวนในปี 2021 มี 9 ประเทศอยู่ภายใต้ Priority Watch List (Argentina, Chile, China, India, Indonesia, Russia, Saudi Arabia, Ukraine และ Venezuela) และอีก 23 ประเทศภายใต้ Watch List (Algeria, Barbados, Bolivia, Brazil, Canada, Colombia, Dominican Republic, Ecuador, Egypt, Guatemala, Kuwait, Lebanon, Mexico, Pakistan, Paraguay, Peru, Romania, Thailand, Trinidad and Tobago, Turkey, Turkmenistan, Uzbekistan และ Vietnam)  อนึ่ง USTR ระบุว่า มีหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่อยู่ใน List มาทุกปีตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำรายงานเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
  2. USTR สรุปการค้าต่างประเทศของสหรัฐฯ ในปี 2021
  มูลค่าปี 2020 (เหรียญฯ) มูลค่าปี 2021 (เหรียญฯ) change 21/20 สัดส่วนมูลค่าปี 2021 ต่อ GDP
การค้าต่างประเทศสินค้าและบริการ 4.95 ล้านล้าน 5.9 ล้านล้าน +19.6 25.7
การส่งออกสินค้าและบริการ 2.13 ล้านล้าน 2.53 ล้านล้าน +18.5 11.00
       การส่งออกสินค้า 1.42 ล้านล้าน 1.76 ล้านล้าน +23.3  
       การส่งออกสินค้าบริการ 7.05 แสนล้าน 7.66 แสนล้าน +8.6  
การค้านำเข้าสินค้าและบริการ 2.81 ล้านล้าน 3.39 ล้านล้าน +20.5 14.7
       การนำเข้าสินค้า 2.35 ล้านล้าน 2.85 ล้านล้าน +21.3  
       การนำเข้าสินค้าบริการ 4.60 แสนล้าน 5.35 แสนล้าน +16.2  
ดุลการค้าสินค้าและบริการ -676.7 พันล้าน -859.1 พันล้าน +27.0 -3.7
     ดุลการค้าสินค้า -922.0 พันล้าน -1.1 ล้านล้าน +18.3 -4.7
     ดุลการค้าสินค้าบริการ +245.3 พันล้าน +231.5 พันล้าน -5.6 +1.0
ที่มา : USTR Release President Biden’s 2022 Trade Agenda And 2021 Annual Report, March 2022

ข้อมูลเพิ่มเติม ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ

1. ข้อมูลล่าสุดของ USTR จัดทำในปี 2021 ระบุการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในปี 2020 ดังนี้

                                                      2020 พันล้านเหรียญฯ change
มูลค่าการค้าสินค้าและบริการรวมทั้งสิ้น 52.3    
     มูลค่าการค้าส่งออกสินค้าและบริการ 13.7   
     มูลค่าการค้านำเข้าสินค้าและบริการ 38.6  
     สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้าและบริการกับประเทศไทย 25.0   
ประเทศไทยเป็นคู่ค้าสินค้า อันดับที่ 19 ของสหรัฐฯ    
      มูลค่าการค้าสินค้ารวมทั้งสิ้น 48.9    
             มูลค่าการส่งออกสินค้าไปประเทศไทย 11.3    -15.2
             มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย 37.6    +12.5
             สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้ากับประเทศไทย 26.3   +30.8
ประเทศไทยเป็นคู่ค้าสินค้าบริการ อันดับที่ 24 ของสหรัฐฯ    
      มูลค่าการค้าสินค้าบริการรวมทั้งสิ้น 3.4    
             มูลค่าการส่งออกสินค้าบริการไปประเทศไทย 2.4   -30.5
             มูลค่านำเข้าสินค้าบริการจากประเทศไทย 1.0   -58.6
             สหรัฐฯ ได้ดุลการค้าสินค้าบริการไทย 1.4 +43.3
มูลค่าการลงทุนของสหรัฐฯ ในประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์) 17.5 -1.0
มูลค่าการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ 1.8 -3.2

2. USTR สรุปการนำเข้าจากประเทศไทยในปี 2020
2.1 เครื่องจักร (10,000 ล้านเหรียญฯ) เครื่องจักรไฟฟ้า (9,900 ล้านเหรียญฯ) ยาง (4,100 ล้านเหรียญฯ) ยานพาหนะ (1,000 ล้านเหรียญฯ) และเครื่องมือทางการแพทย์ (1,100 ล้านเหรียญฯ)
2.2 ไทยเป็นแหล่งอุปทานนำเข้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 12 ของสหรัฐฯ มูลค่านำเข้า 2,800 ล้านเหรียญฯ สินค้าเกษตรหลักที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยในปี 2020 คือ ข้าว (707 ล้านเหรียญฯ) ผลิตภัณฑ์ผลไม้และผัก (493 ล้านเหรียญฯ) อาหารสัตว์เลี้ยง (406 ล้านเหรียญฯ) สินค้าอาหาร (205 ล้านเหรียญฯ) และสินค้าอาหารอบ – bake goods ซีเรียล และพาสต้า (196 ล้านเหรียญฯ)

3. ข้อมูล NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในแหล่งอุปทานนำเข้าที่สำคัญสินค้าอาหารทะเลของสหรัฐฯ (จีน ไทย แคนาดา อินโดนิเซีย เวียดนาม และเอกวาดอร์) ในขณะที่นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในปี 2022 ที่เน้นให้ความสำคัญเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการผลิตสินค้า และเน้นยกตัวอย่างอุตสาหกรรมประมง ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกสหรัฐฯ เพ่งเล็งเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการไทยจึงควรเพิ่มความระมัดระวัง

4. ปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการประมงของไทย  
4.1  ประเทศไทยอยู่ในรายชื่อของ U.S. Department of Labor ในฐานะประเทศที่มีการใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอาหารทะเล
4.2  รายงาน 2021 Trafficking in Persons Report ของ U.S. State Department  จัดประเทศไทยอยู่ใน Tier 2 Watch List สำหรับประเทศที่มีการค้าแรงงานทาส 4.3  ในสมัยรัฐบาล Biden สหรัฐฯจริงจังในการห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากแรงงานบังคับ  ล่าสุด ได้ห้ามนำเข้าสินค้า  ถุงมือยางและน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย ด้วยเหตุผลใช้แรงงานทาสในการผลิต ทำให้มาเลเซียสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านริงกิต หรือประมาณ 700 ล้านเหรียญฯ รวมถึงการออกกฎหมาย Uyghur Forced Labor Prevention Act ห้ามนำเข้าสินค้าทุกชนิดที่ผลิตจากเขตซินเจียงของจีน ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานบังคับชาวอุยกูร์

5. นโยบายทางการค้าปี 2022 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ตอกย้ำความสำคัญในวาระทางการค้าที่ประธานาธิบดีไบเดนให้ความ สำคัญมาโดยตลอดตั้งแต่ตอนหาเสียง ตั้งแต่สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญภายในประเทศ การส่งเสริมภาคเกษตรในการแสวงหาตลาดต่างประเทศ การแข่งขันเสรีและเป็นธรรม การเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันแบบยั่งยืนและเท่าเทียมกัน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  โดยสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะมีบทบาทนำในการทำงานร่วมกับประเทศคู่ค้าและพันธมิตรสำคัญ โดยใช้ประโยชน์จากกลไกทางการค้าที่มีในมือ ไม่ว่าจะเป็น FTA, TIFA และเวทีการค้าในระดับภูมิภาคและระดับโลก ผลักดันประเด็นวาระต่างๆ ดังกล่าว

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส (มีนาคม 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2