It is a long established fact that a reader will be distracted by the readable content of a page when looking at its layout.
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่มีธุรกิจไหนอีกแล้วที่จะเจริญเติบโตได้รวดเร็วเท่ากับธุรกิจแบตเตอรี่ เพราะแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium-ion Battery) ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในสินค้าจำพวก Smartphone, Laptops, หูฟัง หรือแม้แต่รถยนต์ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า ตลาดของแบตเตอรี่จะสามารถขยายตัวได้ถึงปีละ 25%
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ยุโรปจะกลายเป็นศูนย์กลางผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองมาจากจีน และจากข้อมูลของ Avicenne ที่ปรึกษาด้านพลังงาน ได้กล่าวว่า แม้ปัจจุบันในยุโรปจะยังไม่มีโรงงาน Gigafabrik แม้แต่เพียงแห่งเดียว แต่ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า จะมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่จำนวนมาก ที่ย้ายฐานการผลิตจากเอเชียมาตั้งอยู่ในยุโรป จนทำให้ยุโรปมีกำลังการผลิตโดยรวมสูงถึง 200 กิกะวัตต์/ชั่วโมง (GWh)
ในปี 2030 กำลังการผลิตแบบเตอรี่ทั้งหมดของยุโรปน่าจะสูงถึง 400 กะวัตต์/ชั่วโมงซึ่งนาย Christophe Pillot ผู้บริหารของ Avicenne ได้เปิดเผยว่า “เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่จำนวนมากย้ายฐานการผลิตจากเอเชียเข้ามาตั้งโรงงานในยุโรป เพราะนอกจากจีนแล้ว ยุโรปถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก” โดยส่วนแบ่งตลาดถึง 1 ใน 4 ของโลก ซึ่งสูงกว่าสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันไม่เฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เท่านั้นที่เข้ามาบุกตลาดแบตเตอรี่ ยังพบว่า บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีอย่าง BASF ของเยอรมนี บริษัท Umicore ของเบลเยียม และบริษัท Johnson Matthey ของ สหราชอาณาจักร ต่างก็เข้ามาแข่งขันและแย่งชิงส่วนแบ่งของตลาดนี้กันอย่างชัดเจน โดยได้ลงทุนกว่าหลายพันล้านไปกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่เคมี ซึ่งนาย Markus Kamieth ผู้บริหารของ BASF กล่าวว่า “สำหรับ BASF และอุตสาหกรรมเคมี การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยพลังงานไฟฟ้านับเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและจะเจริญเติบโตอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า” บริษัท BASF เป็นองค์กรระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีแคโทด (Cathode) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium-ion Battery) และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถขับเคลื่อนได้ไกลแค่ไหน โดยปี 2022 บริษัท BASF จะเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่เมือง Schwarzheide ภาคตะวันออกของเยอรมนี เพื่อเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่เคมีโดยเฉพาะ ซึ่งคาดการณ์กันว่า โรงงานแห่งนี้จะสามารถผลิตวัสดุจากแคโทด
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ถึงปีละ 4 แสนคัน และนี้ถือเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของ BASF เท่านั้น นอกจากนี้ นาย Kamieth ยังได้ประกาศกับผู้ถือหุ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ วางแผนขยายการลงทุน 3.5 – 4.5 พันล้านยูโร ในช่วงปี 2022 – 2030 โดยจะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เคมีทั่วโลก ซึ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ขยายเครือข่าย โรงงาน พันธมิตร และศูนย์บริการทั่วโลกเป็นจำนวนมาก โดยโรงงานในเมือง Schwarzheide นั้น สร้างขึ้นในรูปแบบ Modular จึงไม่ยากที่จะขยายโรงงานเพิ่ม ซึ่งจากรายงานของ Batterynews ได้มีการประมาณการณ์กันว่า เฉพาะในภูมิภาคยุโรปเพียงแห่งเดียวจะสามารถรองรับลูกค้าได้มากถึงกว่า 40 โรงงาน
นอกจากนี้ ล่าสุดบริษัท Daimler ได้เข้ามาร่วมงานกับ Automotive Cells Company (ACC) ยุโรป ทำให้ Daimler กลายมาเป็นพันธมิตรรายที่ 3 ต่อจาก Stellantis (Peugeot, Opel, Fiat) และ บริษัท Total ซึ่งภายในปี 2030 บริษัท ACC วางแผนที่จะเพิ่มกำลังผลิตขึ้นเป็น 120 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ในขณะเดียวกัน นาย Tom van Bellinghen ผู้บริหารด้านการตลาดของบริษัท Umicore ผู้เชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลจากเบลเยี่ยม ยังได้กล่าวว่า “ตลาดแบตเตอรี่ขยายตัวรวดเร็วกว่าที่คาดหมายมาก ผู้ผลิตรถยนต์ และรัฐบาลต่าง ๆ ต่างก็วางแผนขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ดุเดือดมาก” ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และผู้ผลิตแบตเตอรี่ในยุโรป ทั้งนี้ Umicore ก็ถือเป็นหนึ่งในผู้นำในการผลิตวัสดุจากแคโทด เพื่อตอบสนองความต้องการในยุโรป และบริษัทเพิ่งจะสร้างโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศโปแลนด์ไปเมื่อไม่นานนี้
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของ สคต.
รายงานข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันยุโรปจัดเป็นตลาดแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองมาจากประเทศจีน และด้วยความต้องการพลังงานจากแบตเตอรี่ทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงทำให้หลาย ๆ บริษัทชั้นนำของโลกตัดสินใจย้ายฐานการผลิตแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนมาตั้งอยู่ในพื้นที่ของภูมิภาคยุโรปมากขึ้น ดังนั้น ไม่เฉพาะผู้ผลิตแบตเตอรี่เท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ หากต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้ง Supply Chain อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนจากแคโทด และวัสดุจากแอโนด ต่างก็พากันได้รับประโยชน์ไปตาม ๆ กัน ซึ่งจากประเด็นดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในอนาคตของยุโรป ว่ามีทิศทางที่จะเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ที่ส่งออกสินค้าไปขายในตลาดสหภาพยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนี ก็ควรจะติดตามเทรนด์ในเรื่องนี้ และควรวางแผนการผลิตไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขัน และรักษาฐานลูกค้าในตลาดภูมิภาคยุโรปต่อไปได้
ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (ตุลาคม 2564)
_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e
#DITP #OMD2 #สพต2