It is a long established fact that a reader will be distracted by the readable content of a page when looking at its layout.
ธนาคารกลางแห่งอียิปต์ (The Central Bank of Egypt) ได้ลงนามในความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง รวมถึง The Egyptian Banks Company (EBC) และ Misr Technology Services Company (MTS) เพื่อเชื่อมโยงระบบ Nafeza กับเครือข่ายธนาคารของอียิปต์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของอียิปต์ในการใช้งานระบบการแจ้งข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้า (Advanced Cargo Information system: ACI) โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องแจ้งข้อมูลสินค้าทุกรายการล่วงหน้าก่อนการนำเข้าภายใต้ระบบผ่าน Nafeza Platform ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการปรับปรุงงานด้านการค้าให้มีความสะดวกยิ่งขึ้นในลักษณะหน้าต่างเดียว (Single window) พร้อมรองรับการดำเนินการด้านการค้า การทำธุรกรรม และการรับ-ส่งเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้นำเข้าและผู้ส่งออก โดยเชื่อมโยงธนาคารอียิปต์กับระบบ Single window ของกระทรวงการคลัง ผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับและส่งเอกสาร/ข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (paperless) โดยเชื่อมต่อกับธนาคารและไม่ต้องรอเอกสารต้นฉบับ ทำให้กระบวนการนำเข้าสินค้าสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ความคิดเห็น
อียิปต์เริ่มใช้ระบบการแจ้งข้อมูลนำเข้าสินค้าล่วงหน้า (ACI) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยมีจุดประสงค์เพื่อ อำนวยความสะดวกในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร และลดระยะเวลาการจัดเก็บสินค้าที่ท่าเรืออียิปต์ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการพิธีศุลกากรในอียิปต์ให้เป็นดิจิทัล รองรับการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) อีกทั้งเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่ทราบแหล่งที่มาหรือสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยอียิปต์มีนโยบายขยายการค้าการลงทุนโดยพยายามปรับกระบวนการทางศุลกากรให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าที่ติดค้างอยู่ระหว่างกระบวนการทางศุลกากรและส่งผลกระทบต่อสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารสด หรือ ผลไม้ ก่อให้เกิดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านการบริหารจัดการ การหาที่จัดเก็บ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนอียิปต์โดยเฉพาะผู้นำเข้าพยายามเรียกร้องให้ภาครัฐปรับปรุงขั้นตอนการทำงานและส่งเสริมอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้นำเข้าต้องประสบปัญหาด้านการขนส่งสินค้า เนื่องจากค่าระวางในการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ อียิปต์ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบที่จำเป็นเพื่อใช้ในภาคการผลิต โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าในภาคเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าวสาลี เนื้อสัตว์ พืชน้ำมัน อาหารแปรรูป และการนำเข้าภาคอุตสาหกรรม เช่น สินค้ากึ่งสำเร็จรูปประเภทชิ้นส่วนและส่วนประกอบรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่การส่งออกของอียิปต์ในปัจจุบันยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในกลุ่มสินค้าศักยภาพไม่กี่กลุ่ม ได้แก่ พืชผลทางการเกษตร ปิโตรเคมี เหล็ก/เหล็กกล้า สิ่งทอ ส่งผลอียิปต์มียอดขาดดุลการค้าที่ค่อนข้างสูงในแต่ละปี และเป็นสิ่งที่รัฐบาลอียิปต์พยายามผลักดันเพื่อลดการขาดดุลการค้าดังกล่าว โดยเฉพาะการปรับปรุงกระบวนการด้านศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้ในอีกทางหนึ่ง
ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร (ธันวาคม 2564)
_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e
#DITP #OMD2 #สพต2