ที่ผ่านมา นโยบายการพัฒนานวัตกรรมของเยอรมนีต้องชะงักงัน ซึ่งปัจจัยสำคัญมิได้เกิดจากการที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินให้กับการพัฒนาด้านนี้น้อยจนเกินไป หากแต่เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นปัญหา อาทิ ระบบเอกสารทางราชการ การทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ ขาดแรงจูงใจ และขาดไอเดียใหม่ ๆ ในการนำไปใช้พัฒนาปรับปรุงให้เป็นสินค้า/บริการให้ทันสมัย ประกอบกับปัจจุบันเยอรมนียังคงเผชิญหน้ากับปัญหาที่ไม่สามารถนำองค์ความรู้/นวัตกรรมที่คิดค้นได้ในห้อง Lab มาพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้งานได้จริง ในทางตรงกันข้ามกับประเทศคู่แข่งของเยอรมัน ต่างก็สามารถนำองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมและใช้ในเชิงพาณิชย์เรียบร้อยไปแล้ว

ประเด็นดังกล่าว จึงทำให้เยอรมนีไม่สามารถนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป จึงกำหนด 10 แนวทาง เพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้นวัตกรรมให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ต่อยอดให้สามารถแข่งขันโลก
ปัจจุบันต่อไปได้ โดย 10 แนวทาง นี้ สามารถถอดรหัสได้ ดังนี้

แนวทางที่ 1 การกำหนดยุทธศาสตร์ที่มีความชัดเจน การกำหนดยุทธศาสตร์ที่แม่นย่ำและเฉียบคม โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งของตนเองอย่างซื่อสัตย์และเป็นธรรมนับเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้ เพื่อรับทราบจุดที่เป็นปัญหาและสามารถปรับปรุงได้ถูกจุด นอกจากนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน โดยสามารถตรวจสอบความคืบหน้าการดำเนินการได้ทุกระยะว่าเป็นไปตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ระบุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีของเยอรมนีแต่อย่างไร (ข้อมูลจากกรมวิจัยแห่งชาติ หรือ BMBF)

แนวทางที่ 2 การปฏิรูประบบการค้นคว้าและวิจัยของประเทศ มุ่งเน้นปฏิรูปการทำงานของ BMBF ทั้งระบบ โดยครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการการตัดสินใจ การบริหาร และการทำงาน รวมไปถึงการผลักดันศูนย์ค้นคว้าและวิจัยนอกสถานศึกษา (AuF – die auferuniversitaren Forschungseinrichtung) อย่างสถาบัน Fraunhofer, Helmholtz, Leibniz และ Max Planck ให้มีแนวคิดและแนวทางการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดความสำเร็จ อาทิ การจัดระดับ TOP 100 นักวิจัย และการมอบรายได้จากสิทธิบัตร เป็นต้น นอกจากนี้ มีแนวความคิดที่จะมอบเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งให้กับการแข่งขันระหว่างสถาบัน AuF เพื่อสร้างแรงจูงใจและมีส่วนช่วยหน่วยงานเหล่านี้มีแหล่งเงินทุนสำหรับบริหารความเสี่ยงในขั้นตอนการทดลองต่าง ๆ นอกจากนี้ เยอรมนีได้วางแผนที่จะสร้าง Platform เพื่อเป็นเครือข่ายด้านนวัตกรรมภายในประเทศ และวางนโนบายปรับปรุงและต่อยอดงานวิจัยมาใช้ในเชิงพาณิชย์/เชิงธุรกิจให้มากขึ้น อีกทั้ง มุ่งเน้นบริหารจัดการและให้การสนับสนุนนักวิจัยในระดับหัวกะทิ และการจดสิทธิบัตรต่าง ๆ ต่อไปด้วย

แนวทางที่ 3 การเอาเชิ่นเจิ้นมาตั้งไว้ข้างบ้าน โดยสร้างพื้นที่อิสระและบรรยากาศการทำงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและแข่งขันในด้านนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันเยอรมนียังไม่มีพื้นที่รองรับนักวิจัยให้สามารถพัฒนาอะไรได้อย่างอิสระ ในขณะเดียวกันนักวิจัยส่วนใหญ่มักจะถูกกดดันค่อนข้างมากหากโครงการวิจัยต่าง ๆ เกิดความล้มเหลว ทั้งนี้ เยอรมนีอาจจะต้องตั้งงบประมาณจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นกองทุนความเสี่ยงสูง และมีการกำหนดเงินรางวัลสนับสนุนการทดลอง/การคิดค้นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ โดยอาจ Benchmark รัฐบาลของสหราชอาณาจักรที่เคยทำไว้ โดยการสร้างพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาในมหาวิทยาลัย  ซึ่งมีการกำหนดอัตราหรือแนวทางชำระภาษีแบบพิเศษ มีการให้เงินสนับสนุนด้านการพัฒนานวัตกรรม และจัดหาระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรองรับ อีกทั้ง ปรับวิธีการทำงานของระบบราชการให้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และพร้อมที่จะสนับสนุนนักวิจัยหัวกะทิเพื่อก่อตั้งอุตสาหกรรมหรือบริษัท Deeptech ต่อไป

แนวทางที่ 4 งานวิจัยคุณภาพที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดจนเป็นธุรกิจได้ มีความสำคัญเทียบเท่ากับการเปิดเผยงานวิจัยในหนังสือชั้นนำ เยอรมนีจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ทรงพลังมากกว่านี้ พร้อมกับสร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้อต่อการจัดตั้งบริษัท/ธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยต้องให้การดำเนินการในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นไปอย่างง่าย ไม่ยุ่งยากเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แนวทางที่ 5 การดึงดูดนักวิจัยหัวกะทิจากทั่วทุกมุมโลก ปัจจุบันสมองไหลหรือ Brain Drain (การสูญเสียคนชั้นมันสมองไปต่างประเทศ เพราะเกิดความขัดแย้ง ขาดโอกาส และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง) นับเป็นยาพิษของเยอรมนี คงต้องยอมรับว่าทรัพยากรคนที่มีคุณภาพนับเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมของประเทศ ดังนั้น เพื่อให้เยอรมนีดึงดูดกลุ่มนักวิจัยระดับหัวกะทิให้สนใจย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเยอรมนีมากขึ้น รัฐบาลจึงควรให้การสนับสนุนและให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ แก่นักวิจัยในกลุ่มนี้เช่นเดียวกับที่ประเทศเดนมาร์กเคยทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ประโยชน์จากการลดการจัดเก็บภาษีให้แก่นักวิจัยหัวกะทิถึง 60% ของรายได้ทั้งหมดที่พวกเขาได้รับหลายปีติดต่อกัน ปัจจุบันเยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (Ai) ค่อนข้างมาก ดังนั้น เยอรมนีอาจพิจารณาที่จะมอบทุนการศึกษาในระดับปริญญาเอกให้แก่นักวิจัย และปรับกฎหมายการโยกย้ายถิ่นฐานให้ง่ายขึ้นเหมือนกับที่แคนนาดาเคยทำไว้ ในขณะเดียวกันเยอรมนีก็วางแนวทางเพิ่มการเรียน/การสอนในกลุ่มวิชาด้านคณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และเทคโนโลยีให้มากขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาในระยะยาว

แนวทางที่ 6 จัดตั้งกองทุนความเสี่ยงสูง  เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนของภาคเอกชน เหมือนกับกองทุน Biotech Funds ของออสเตรเลียที่คืนทุนให้กับนักลงทุนเอกชน 60% และรัฐ 40% ในการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ซึ่งปัจจุบันภาคธุรกิจ SMEs  ของเยอรมนีต่างก็ต้องการให้รัฐบาลผลักดันการสร้าง PPP ขึ้นในเยอรมนี เพื่อจะสามารถผลักดันบรรยากาศและระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

แนวทางที่ 7 นวัตกรรมด้านสังคมและเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่นคง การพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาด้านสังคมควบคู่ไปด้วย โดยเยอรมนีวางแผนที่จะปฏิรูประบบการรักษาพยาบาล ระบบการศึกษา และระบบการบริหาร ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้อยู่ภายใต้กิจการเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship)

แนวทางที่ 8 เปลี่ยนงานวิจัยให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง ที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ของเยอรมนีมักจะหลั่งไหลไปสนับสนุนการค้นคว้าและวิจัยขั้นพื้นฐาน ในขณะที่เม็ดเงินที่จะใช้เพื่อการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยให้สามารถใช้งานได้จริงนั้นมีอยู่เพียงเล็กน้อย ดังนั้น เยอรมนีควรต้องเร่งปรับวิธีการบริหารจัดการด้านงบประมาณให้สอดคล้องกับความจำเป็นและสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น โดยควรให้ความสำคัญกับการถ่ายโอนองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้มากขึ้น เพื่อทำให้เกิดพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

แนวทางที่ 9 รูปแบบการทำงานแบบใหม่ (New Work) ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจอิสระ (Freelancer) ให้มากขึ้น โดยภาครัฐต้องปกป้องผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในลักษณะนี้ เพื่อให้มีอิสระในการประกอบอาชีพ และสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยไม่ต้องผูกมัดกับระบบแบบเก่าและข้อกำหนดด้านเวลาหรือสถานที่

แนวทางที่ 10 การพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบ Social Market Economy เยอรมนีต้องสร้างความกลมกลืนกันระหว่าง 3P ได้แก่ Planet, People และ Profit (โลก ประชากร และผลกำไร) เพราะในระบบเศรษฐกิจแบบ Social Market Economy จะต้องมีการวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนและยั่งยืน ซึ่งโลกดิจิตอลแห่งอนาคตจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการรวมตัวเป็นเมืองใหญ่มากจนเกินไป ผลักดันให้เกิดการตั้งตัว และการทำงานผ่านระบบดิจิตอลให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันสังคมต้องร่วมกันลดจำนวนแรงงานที่ประกอบอาชีพที่เสี่ยงอันตรายและรายได้ต่ำลง โดยต้องสนับสนุนให้กองทุนเกษียณอายุเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นให้มากขึ้น การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่ม Start Ups เข้าตลาดหุ้น และความร่วมมือกันต่อสู้กับวิกฤติสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น เป็นต้น

ที่มาข้อมูล : รายงานข่าวเด่นจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (พ.ย. 2564)
Handelsblatt

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2