ในปี 2564 ตลาดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และรองเท้าในสวีเดนเติบโตรวม 296.98 พันล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะเติบโตขึ้นเล็กน้อย

ตลาดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และรองเท้าในสวีเดนเคยมีมูลค่าสูงถึง 322.20 พันล้านบาทในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19 ก่อนที่จะตกฮวบลงเหลือ 269 พันล้านบาทในปี 2563 และคาดว่าจะเติบโตที่ 305 พันล้านบาทในปีนี้ จากการที่ประชาชนมีระดับการฉีดวัคซีนที่อยู่ในระดับสูง กฎระเบียบข้อบังคับเพื่อป้องกันโรคระบาด COVID-19 ต่างๆ  ลดลง ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้มากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนหันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ดี มูลค่าตลาดคงยังไม่กลับมาสูงถึงในปี 2562 เนื่องจากประชาชนยังคงระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายอยู่ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ตลาดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (Apparel) มีมูลค่าสูงที่สุดที่ 246 พันล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มเสื้อผ้ากีฬา (Sportswear) 76 พันล้านบาท และตลาดรองเท้า 49 พันล้านบาท โดยบริษัทที่ครองตลาดคือ H&M บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ที่สุดในโลกจากสวีเดนเอง โดยครองตลาดร้อยละ 8.5 รองลงมาได้แก่ Adidas ร้อยละ 4.5 Lindex ร้อยละ 4.4 KappAhl ร้อยละ 3.8 และ Nike ร้อยละ 2.4 และเป็นผู้ครองตลาดหากดูจากสัดส่วนแบรนด์สินค้ารายใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดนเช่นกัน  

บทวิเคราะห์สถานการณ์/โอกาสของไทย:

  1. ในปี 2564 ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสวีเดน 172.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.16 และส่งออกกลุ่มสินค้ารองเท้าและชิ้นส่วนรวม 28.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -16.15  ทั้งนี้ ตลาดสวีเดนเป็นตลาดที่มุ่งมั่นการลดปัญหาผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม การจัดหาใบรับรองด้านการลดปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมสามารถสร้างโอกาสทางการค้า และเป็นเครื่องช่วยยืนยันในการทำธุรกิจสีเขียวกับผู้นำเข้า และผู้บริโภคได้
  2. Stockholm Fashion Week เป็นหนึ่งกุญแจสำคัญที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสวีเดน โดยการจัดงานครั้งล่าสุด Stockholm Fashion Week AW22 ได้จัดไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดการจัดงานปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งหน้าเป็นคอลเล็คชั่น Spring-Summer ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถเจาะตลาด niche market ได้จากปัจจัยวัตถุดิบที่มีความโดดเด่นจากไทย เช่น ผ้าไหมไทย เนื่องจากกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ไม่สามารถผลิตผ้าไหมได้เอง ต้องพึ่งพาการนำเข้าเท่านั้น โดยตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ปัจจุบันมีแนวโน้มความนิยมการใช้ผ้าไหมไทยเป็นเครื่องแต่งกาย รวมทั้งของใช้แฟชั่นอื่นๆ เช่น นำมาทำกระเป๋าถือ หมวก และผ้าพันคอ โดยได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นด้วย
  3. นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปแล้ว เทรนด์ความนิยมการใช้วัสดุรีไซเคิล รวมทั้งการลดปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นแนวโน้มสำคัญที่ผู้นำเข้าตรวจสอบ กฏระเบียบที่ได้รับการยอมนับในตลาดสวีเดน และกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ เช่น Amfori BSCI, SA8000®, Sedex, Fair Wear, B-Corp, OEKO-TEX® STeP, BCI, OEKO-TEX และ GOTS เป็นต้น การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และรองเท้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล และได้รับใบรับรองเหล่านี้ สามารถสร้างโอกาสทางการค้าในตลาดสวีเดนได้

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ: สินค้ากลุ่มเสื้อผ้า และสินค้าแฟชั่นเป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทย เป็นอีกตลาดที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูง อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม และสามารถจับต้องได้ มีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามจริยธรรม และข้อมูลการผลิตที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ การจัดหาใบรับรองด้านการลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะสร้างโอกาสทางการตลาดนี้ได้  รวมทั้งการใช้ฝ้ายเกษตรอินทรีย์ 100% (100% Organic Cotton) เป็นวัตถุดิบในการผลิตด้วย

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นกรุงโคเปนเฮเกน (เมษายน 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2