วารสาร Mid-America Jewelry News ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้รายงานตลาดเพชรสังเคราะห์หรือ Lab-grown diamonds ว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มการเติบโต วงการธุรกิจเครื่องประดับจะพูดถึงเพชรสังเคราะห์ในช่วงตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และมีผู้ประกอบการค้าปลีกหลายรายได้หันมาจำหน่ายเพชรสังเคราะห์และได้รับการตอบรับที่ดี อีกทั้งการคาดการณ์ยอดค้าปลีกในช่วงเทศกาลในปีที่ผ่านมา เพชรสังเคราะห์น่าจะเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด (bestseller) และเป็นดาวรุ่งที่ช่วยกระตุ้นยอดค้าปลีกในช่วงเทศกาลปี 2564  

ในรายงานผลการศึกษา การสำรวจและการวิเคราะห์ตลาดเพชรสังเคราะห์ทั่วโลกและในตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งจัดทำโดยบริษัทวิจัยหลายบริษัท รวมทั้งข้อมูลของผู้ประกอบการค้าปลีกเครื่องประดับในสหรัฐฯ ซึ่งพบว่า ผู้บริโภคอเมริกันโดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และกลุ่ม Gen Z นิยมเพชรเม็ดใหญ่ในราคาที่สามารถจ่ายได้และให้ความสำคัญต่อสินค้าที่มีความยั่งยืน ธุรกิจมีหลักจริยธรรมและมีความโปร่งใส ผู้บริโภครร้อยละ 65 นิยมเพชรขนาด 1-3 กะรัต และร้อยละ 49 มีงบประมาณสำหรับแหวนแต่งงานในราคาที่ต่ำกว่า 10,000 เหรียญ และร้อยละ 46 นิยมเพชรสังเคราะห์เนื่องจากมีราคาถูกว่าเพชรธรรมชาติ

ในปี 2563 พบว่า ผู้บริโภคอเมริกันมีการรับรู้เกี่ยวกับเพชรสังเคราะห์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 จากร้อยละ 9 ในปี 2553 และเพชรสังเคราะห์มีสัดส่วนในตลาดเครื่องประดับเพชรในสหรัฐฯ เกือบร้อยละ 5 ในขณะนี้ผู้ประกอบการเครื่องประดับเพชรรายใหญ่ อาทิ บริษัท De Beers และ Signet ต่างก็หันมาทำตลาดเพชรสังเคราะห์เช่นกัน แม้แต่บริษัท Pandora ยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจเครื่องประดับได้ประกาศเมื่อกลางปีที่ผ่านมาว่า บริษัทจะยุติการจำหน่ายเพชรแท้ จะมีแต่เพชรสังเคราะห์

นอกจากนี้จากข้อมูลการวิจัยของบริษัท Allied Market Research ได้ระบุว่า ตลาดเพชรสังเคราะห์ทั่วโลกในปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าตลาดเพชรสังเคราะห์จะเติบโตมีมูลค่าเกือบถึง 50 พันล้านเหรียญฯ ภายในปี 2573 และจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 9.4 จนถึงปลายทศวรรษหน้า

ตลาดเพชรและเครื่องประดับเพชร

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของสหรัฐฯ รวม มีมูลค่าในประเทศประมาณ 76,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะเครื่องประดับเพชรมีมูลค่า 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของเครื่องประดับในปี 2563

ปัจจุบัน ตลาดเพชรที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการ (Lab-Grown Diamond : LGD) ในสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 7 ของตลาดเพชรทั้งหมดของสหัฐฯ ในปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มเป็นเท่าตัวหรือประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2568

ความเคลื่อนไหวของตลาดเพชรสังเคราะห์ในช่วงปีที่ผ่านมาในสหรัฐฯ
1. บริษัท DeBeer ลงทุน 94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เปิดโรงงานผลิตเพชรสังเคราะห์ มีกำลังการผลิตประมาณ 200,000 การัตต่อปี ที่รัฐโอรีกอน ประเทศสหรัฐฯ และเปิดดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. บริษัท Pandora ผู้ผลิตอัญมณีรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศเจตนารมณ์ว่า จะไม่ใช้เพชรธรรมชาติที่ขุดจากเหมือง สำหรับการออกแบบสินค้าใหม่อีกต่อไป และจะเปลี่ยนไปใช้เพชรที่ผลิตขึ้นผลิตในห้องปฏิบัติการแทน
3. ผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์รายสำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ATLR, Classic Grown-Diamond, Diamond Foundry, Gemesis, Scio Diamond, WD Lab-Grown Diamond และ DeBeer เป็นต้น
4. สหรัฐฯ นำเข้าเพชรสังเคราะห์ในปี 2564 เป็นมูลค่า 8,926,291 เหรียญสหรัฐฯ ลดลงไปจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 12.60 โดยนำเข้าจากจีนมากที่สุดประมาณร้อยละ 71 หรือมูลค่า 6,334,397 เหรียญสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ และ เดนมาร์ก เป็นต้น และสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 70,834 เหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.93

ข้อพิจารณา

1. ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของการออกแบบและผลิตเพชรและพลอยสังเคราะห์ในตลาดโลก และในปัจจุบันจะต้องแข่งขันกับสินค้าจากจีน ซึ่งมีราคาสินค้าถูกกว่าไทยถึงร้อยละ 15-30 แต่ไทยมีจุดเด่นเรื่องคุณภาพ งานฝีมือและสร้างสรรค์งาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยดึงดูดความสนใจจากผู้นำเข้า
2. การเจริญเติบโตของตลาดเพชรสังเคราะห์ของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับแรงผลักดันและสนับสนุนจากกลุ่มผู้บริโภคและพฤติกรรมการบริโภคสหรัฐฯ ต่อสินค้าเพชรสังเคราะห์สหรัฐฯ สร้างความต้องการเครื่องประดับเพชรสังเคราะห์ ซึ่งจะเป็นช่องทางและโอกาสในการขยายตลาดเครื่องประดับเพชรสังเคราะห์ไทย
3. แนวคิดการขยายตลาดเครื่องประดับเพชรสังเคราะห์ไปสหรัฐฯ ควรมุ่งในด้านการสร้างงานเจียรไนยแบบแปลกใหม่ ความพิถีพิถันในการขึ้นตัวเรือนการนำเสนอราคาให้เหมาะสม การรักษาระดับคุณภาพให้สม่ำเสมอ รวมไปถึงการสร้างแบรนด์สินค้า

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก (กุมภาพันธ์ 2565)
Mid-America Jewelry News ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2565

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2