นับตั้งแต่สถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มปรับตัวดีขึ้น ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาเริ่มหันกลับมาซื้อสินค้าเครื่องสำอางมากยิ่งขึ้น ทำให้ปี 2564 มูลค่าตลาดเครื่องสำอางขยายตัวเป็น 4.04 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.63 และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวต่อเนื่องเป็นมูลค่า 5.31 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2569
ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2565 สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าเครื่องสำอางเป็นมูลค่า 1.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.69 โดยมีการนำเข้าจากไทยมูลค่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.27 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคสหรัฐมีความสนใจในสินค้าเครื่องสำอางกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะเครื่องสำอางสะอาด (Clean Beauty) ซึ่งในปี 2564 มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นถึง 19% มูลค่า 6.47 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังมีแนวโน้มที่จะผ่านร่างกฏหมายเพิ่มความเข้มงวดมาตรฐานสินค้าเครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นอีกแรงผลักดันให้ตลาดสินค้าเครื่องสำอางสะอาดและเครื่องสำอางที่ส่งเสริมความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมูลค่าตลาดขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
นับเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจบุกตลาดเครื่องสำอางสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง แต่ยังมีช่องว่างทางการตลาดสำหรับกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะเช่น เครื่องสำอางธรรมชาติ เครื่องสำอางเพื่อความยั่งยืน เครื่องสำอางจากสมุนไพร เครื่องสำอางปราศจากการทารุณสัตว์ (Cruelty-Free) เครื่องสำอางไม่แบ่งเพศ (Gender-Free) และเครื่องสำอางเฉพาะผู้ใช้งานแต่ละคน (Customize) โดยเฉพาะประเทศไทยมีจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติและพืชสมุนไพรที่หลากหลาย มีศักยภาพที่จะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใหม่ๆที่น่าสนใจ
ผู้ส่งออกไทยจึงควรศึกษาตัวอย่างความสำเร็จในการเจาะตลาดของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในภูมิภาคที่ใกล้เคียงเช่น เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน เพื่อวางกลยุทธ์ผลักดันให้เครื่องสำอางไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดโลก