กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เล็งเห็นศักยภาพตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในตะวันออกกลาง เร่งหนุนผู้ส่งออกไทยให้ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เผยหากเอกสารครบถ้วนจะได้รับการพิจารณาใบอนุญาตครั้งละ 5 ปี
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้รวบรวมข้อมูลจากรายงานของ Euro Monitor พบว่า ธุรกิจอาหารเสริมของโลกปีนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 3.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเติบโตเร็วที่สุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความใส่ใจในสุขภาพและป้องกันดูแลสุขภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ รายงานว่า เมืองดูไบนับเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Health Supplements) นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในดูไบ ผู้นำเข้าจะต้องเป็นผู้ดำเนินการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานเทศบาลดูไบ (Dubai Municipality) โดยการยื่นขออนุญาต จะต้องเป็นนิติบุคคลมีทะเบียนการค้านำเข้าอาหาร โดยสามารถกระทำได้หลายวิธีเช่น 1) ก่อนตั้งบริษัทในรูปแบบบริษัทจำกัด เพื่อนำเข้าสินค้า โดยรูปแบบบริษัทพาณิชย์ที่นิยมคือบริษัทจำกัด Limited Liability Company (LLC) 2) ก่อตั้งบริษัทในเขตปลอดอากร หรือ Free Zone โดยมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆที่มากกว่าพื้นที่ทั่วไป ผู้ประกอบการไทยที่สนใจการดำเนินการสามารถใช้บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจดำเนินการได้ โดยสามารถค้นหารายชื่อบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นสมาชิกของ Dubai Chamber of Commerce and Industry ที่ https://dcciinfo.ae/business-consultants-dubai/12585
เนื่องจากตลาดอาหารเสริมในดูไบมีศักยภาพสูง มีการขยายกิจการคลินิก โรงพยาบาล โรงยิม สถานประกอบการด้านสุขภาพทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับดูไบเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญต่อการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อีกทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เกิดมูลค่าทางการค้าระหว่างประเทศ และสร้างพื้นที่การค้าให้กับผู้ประกอบการไทยบนเวทีการค้าโลกอีกทางหนึ่ง
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
1 มิถุนายน 2564
เอกสารสำหรับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในดูไบ
- รายละเอียดโรงงานผู้ผลิต ได้แก่ สำเนาทะเบียนบริษัท ประวัติบริษัทระบุรายละเอียดที่ติดต่อได้
- ฉลากผลิตภัณฑ์ (Label Requirements & Art Work) จะต้องมีชิ้นงานและรูปแบบฉลากชัดเจน เป็นภาษาอังกฤษและอาระบิก โดยต้องแปลให้ถูกต้อง อ่านเข้าใจ พร้อมรายละเอียดประกอบด้วย
- ชื่อทางการค้า ยี่ห้อทางการค้า ประโยชน์ของสินค้า
- ชื่อโรงงานผลิต
- Barcode
- เลขที่ครั้งผลิต
- แหล่งกำเนิดสินค้า
- วิธีการเก็บรักษา
- อายุสินค้า สำหรับสินค้าที่มีอายุการใช้งานต่ำกว่า 30 เดือนจะต้องระบุวันที่ผลิตและหมดอายุ สำหรับสินค้าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 30 เดือน จะต้องระบุอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์หลังเปิดใช้งานครั้งแรก (Period After Opening)
- คุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์
- ระบุชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
- ห้ามกล่าวอ้างสรรพคุณทางการแพทย์
- รายละเอียดส่วนประกอบบนฉลากต้องระบุอย่างละเอียดว่ามีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้หรือไม่
- ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จะต้องไม่มีส่วนผสมของสารปรุงแต่งที่ถูกห้ามใช้โดยเทศบาลรัฐ
- หนังสือรับรองการจำหน่าย หนังสืออนุญาตสถานที่ผลิต/นำเข้า และผลิตภัณฑ์ที่ออกและรับรองโดยหน่วยงานราชการของประเทศผู้ผลิต/ ส่งออก
- ใบรับรองสถานที่ผลิตอาหาร GMP Certificate ที่ได้รับอนุญาตสถานที่ผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ต้องเป็นใบอนุญาตที่ยังไม่หมดอายุหรืออยู่ระหว่างการพักใช้ใบอนุญาต
- รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ เป็นเอกสารรายละเอียดการวิจัยที่มาจากบริษัทผู้ผลิต/ เจ้าของแบรนด์ และเอกสารรับรองอื่นๆเพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้ามีคุณภาพ โดยขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าเช่น
- เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี Safety Data Sheet (SDS)
- ใบรับรองฮาลาล (Halal Certificate) จากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
- Radiation Certificate จากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
- Laboratory Certificate หนังสือรับรองห้องปฏิบัติการ
- หนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ และสูตรส่วนประกอบ (Certificate of Ingredient)
- ในบางกรณีอาจมีเอกสารรับรองอื่นๆประกอบเช่น ISO Certificate