ประเทศออสเตรียมีความพยายามในการต่อสู้กับประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างจริงจังและเป็นความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น 1) นโยบายและการสนับสนุนของภาครัฐออสเตรียเอง 2) นโยบายของสหภาพยุโรปและความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในด้าน Climate Change ในเวทีโลก 3) ภาคเอกชนและผู้ประกอบการที่ต้องแข่งกันสร้างแบรนด์และมีภาพลักษณ์ที่ดี ตลอดจน 4) ประชาชนทั่วไปที่ให้ความสำคัญและมีพฤติกรรมที่สนับสนุนความพยายามดังกล่าว

สำหรับกระแสความคิดสีเขียวของชาวออสเตรียที่สะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมในการบริโภคและจับจ่ายใช้สอยสามารถเห็นได้ในทุกมิติในตลาดออสเตรีย ดังนี้

  1. ประหยัดการใช้พลังงาน: ชาวออสเตรียมีนิสัยประหยัดพลังงาน คำนึงถึงอัตราการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องทำความร้อน (ในช่วงฤดูหนาว) ที่ต้องมีประสิทธิภาพและได้รับการรับรองมาตรฐาน
  2. ที่พักอาศัยขนาดพอเหมาะ: ชาวออสเตรียโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเวียนนาไม่นิยมเลือกที่อยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่โต นิยมเลือกที่พักอาศัยที่มีขนาดและฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะสมต่อไลฟ์สไตล์และความต้องการของครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงรูปแบบและขนาดของเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน
  3. คำนึงถึงบรรจุภัณฑ์และการสร้างขยะ: ชาวออสเตรียปฏิเสธการใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็นและยังคำนึงถึงวิธีการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ภาครัฐยังห้ามการใช้พลาสติกที่เป็นการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single use plastic) อีกด้วย
  4. ลดการบริโภคเนื้อสัตว์: ชาวออสเตรียในปัจจุบันนิยมการกินอาหารมังสวิรัติหรืออาหารวีแกนมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือไปจากความใส่ใจด้านสุขภาพแล้วเยาวชนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ในทุกร้านอาหารจะพบเมนูมังสวิรัติเสมอ และยังสามารถเลือกซื้อสินค้าอาหารโปรตีนที่ทำจากพืช (Plant based meat) ในซุเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำได้ทั่วไป
  5. เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่วางจำหน่ายในตลาดออสเตรียโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและเข้าถึงผู้บริโภคเกือบทุกกลุ่มอย่าง Zara H&M Hogl จะมีการให้ข้อมูลชัดเจนบนเว็บไซต์ตลอดจนป้ายสินค้า (tag) ที่อฺธิบายถึงกระบวนการผลิตและวัสดุที่ใช้ผลิต ตลอดจนวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของแบรนด์ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability)
  6. การเดินทางและเลือกใช้ยานพาหนะ: กว่าร้อยละ 49 ของชาวเวียนนามีบัตรโดยสารระบบขนส่งสารธารณะรายปี ทำให้ชาวเวียนนามีความคล่องตัวในการเดินทางและไม่นิยมเป็นเจ้าของรถยนต์ นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรียทุ่มเทงบประมาณในการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพในราคาที่เข้าถึงได้ด้วยเป้าหมายที่ต้องการลดการปล่อยก๊อซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอแนะและความคิดเห็น

รัฐบาลไทยมีกรอบนโยบายด้าน Bio Circular Green Economy  หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับ SDG 17 ขององค์การสหประชาชาติ และ Green Deal Policy ของสหภาพยุโรป ดังนั้น กระแสนโยบายภาครัฐที่ร่วมกันสนับสนุนแนวความคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาและสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ชัดเจนในประเด็นนี้ แบรนด์ดอยตุง (Doi Tung(เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของวิสาหกิจขุมขนที่เข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา และประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากผู้บริโภคและสื่อมวลชนในตลาดออสเตรีย

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา (ธันวาคม 2564)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2