แม้ในปัจจุบันสภาวะเงินเฟ้อในตลาดจะรุนแรง แต่ชาวอเมริกันยังคงนิยมการรับประทานอาหารนอกบ้านอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลพวงมาจากการที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี
จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกันล่าสุดโดย Economic Research Service กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) พบว่าในปี 2565 ชาวอเมริกันใช้จ่ายเงินเพื่อบริโภคอาหารนอกบ้านเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 21 ในขณะที่การบริโภคอาหารภายในบ้านขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2564 และยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้จะมีปัจจัยภาวะเงินเฟ้อก็ตามที ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลจากมาตรการผ่อนปรนที่สนับสนุนให้ชาวอเมริกันได้เดินทางท่องเที่ยวและรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อชดเชยช่วงเวลาการใช้ชีวิตอย่างเข้มงวดภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ผ่านมาทำให้เกิดภาวะ “ใช้จ่ายเพื่อล้างแค้น” (Revenge Spending) ในตลาดขึ้นมานั่นเอง
โดยระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2565 สหรัฐฯมีความต้องการนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นมูลค่ารวม 5.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบการปรุงอาหารไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ เส้นก๋วยเตี๋ยว ซอสปรุงรส กะทิกระป๋อง เครื่องแกง รวมถึงอาหารแปรรูปอื่นๆ
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความต้องการในการบริโภค แต่ปัจจัยเงินเฟ้อก็ยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อ เช่น การเลือกซื้อสินค้าคุณภาพใกล้เคียงกันแต่มีราคาถูกลง และการเลือกซื้อสินค้าอาหารที่มีอายุการเก็บรักษาได้นานยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องให้ความสำคัญต่อการควบคุมต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกเหนือไปจากการควบคุมคุณภาพสินค้าและบริหารจัดการการผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทย
ที่มาข้อมูล: ข่าวเด่นประจำสัปดาห์จากสหรัฐอเมริกา: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครไมอามี่ (20 – 24 มิ.ย. 2565)