แม้ว่าสถานการณ์ของฟิลิปปินส์จะฟื้นตัวดีขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาด และกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับปัจจัยความเสี่ยงด้านค่าเงินเปโซที่อ่อนลงอย่างมาก บวกกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบหลายปี ทำให้ราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และต้องเจอความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญหลายรายการ และฟิลิปปินส์เองเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเปราะบางในการรับผลกระทบจากภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีดัชนีราคาผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์มีสัดส่วนของสินค้าอาหารและพลังงานในระดับสูง และยังเป็นมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าสูงกว่าการส่งออก
บริษัท Transunion ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกระดับโลกเปิดเผยผลการศึกษา Consumer Pulse Study กับชาวฟิลิปปินส์จำนวน 1,005 ราย ระหว่างวันที่ 26 พ.ค. – 7 มิ.ย. 2565 ได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้
1) 56% ของผู้ตอบคำถามตัดสินใจประหยัดเงินมากขึ้นเพื่อเก็บไว้ในกรณีฉุกเฉิน เพราะคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวและราคาสินค้าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2) 43% ของผู้ตอบคำถามระบุว่าจะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน การท่องเที่ยว และความบันเทิง
3) 61% ของผู้ตอบคำถามคาดว่า การใช้จ่ายเพื่อซื้อของครั้งละจำนวนมาก จะลดลง หรือเท่าเดิม
จากบทสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ต้องการออมเงินให้มากขึ้นเพื่อใช้จ่ายในยามจำเป็น อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อสภาวะสินค้าโภคภัณฑ์ขาดแคลนทำให้ฟิลิปปินส์จำต้องมองหาแหล่งนำเข้าอื่นๆเพิ่มเติม ในฐานะที่ประเทศไทยจัดเป็นแหล่งนำเข้าที่มีศักยภาพสำคัญของฟิลิปปินส์ จึงนับเป็นโอกาสทางการค้าที่จะขยายอัตราการส่งออกสินค้าของไทยในกลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าเกษตร และน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังประเทศฟิลิปปินส์เพิ่มเติม
ที่มาข้อมูล: ข่าวความเคลื่อนไหวตลาดต่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (25 – 31 กรกฎาคม 2565)