
เดือนธันวาคมปีที่แล้วนับเป็นการตอกย้ำต่อชาวโลกว่านโยบายการค้าสหรัฐฯนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดในช่วงหลายปีมานี้ หลายคนคงโทษอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้ซึ่งมีความชัดเจนเรื่องอเมริกาต้องมาก่อน แต่แล้วรัฐบาลไบเดนก็ยังคงดำเนินนโยบายตามรอย ปธน. ทรัมป์ต่อไปในหลายกรณีรวมถึงการปฏิเสธมติขององค์การการค้าโลก (WTO) ถึง 2 เรื่องในเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา
การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลมาจากพัฒนาการหลายๆ อย่างในระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งได้ดำเนินมา สักระยะหนึ่งแล้ว ได้แก่
เรื่องแรกก็คือความมั่นคงทางการค้าและความมั่นคงแห่งชาติถูกมัดรวมเป็นเรื่องเดียวกัน แม้แต่ประชาชนสหรัฐฯ ต่างมองจีนเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้งตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ และจีนกลายเป็นภัยคุกคามทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง กรณีพิพาทต่างๆ มักต้องเจรจาด้านการค้าและการมั่นคงไปพร้อมๆ กันด้วย เรื่องภาษีที่สหรัฐฯเก็บจากจีนในสมัย ปธน. ทรัมป์ โดยเฉพาะเหล็กกล้าและอลูมิเนียมยังเป็นข้อพิพาทหลักและเรื่องอลูมิเนียมก็ถึงกับมีการฟ้องร้องต่อ WTO ด้วยซ้ำไป
ความเปลี่ยนแปลงเรื่องที่ 2 ก็คือ ความเชื่อของหลายคนในรัฐบาลไบเดนที่ว่า ความตกลงการค้าเสรีที่ใช้กันอยู่นี้ให้ประโยชน์แก่บริษัทขนาดใหญ่และผู้บริหารบนความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลจะแก้ไขเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน สหรัฐฯ จะเลี่ยงการเจรจาการค้าแบบปกติซึ่งจะรวมถึงการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ด้วย แต่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมในสหรัฐฯ กลับคืนฝั่ง (Re-shoring) หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไปขึ้นฝั่งพันธมิตร (Friend-shoring) แทน เมื่อเร็วๆ นี้ กฎหมายลดภาวะเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ให้แรงจูงใจอย่างมหาศาลเพื่อดึงโรงงานอุตสาหกรรมกลับมายังสหรัฐฯ เช่น เซมิคอนดักเทอร์ แบทตารี่และแร่ธาตุที่สำคัญต่างๆ
ความเปลี่ยนแปลงเรื่องที่ 3 ก็คือ การที่ผู้ประกอบการต้องการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานของตนให้ฟื้นตัวได้เร็วและลดความเปราะบางเมื่อต้องเผชิญสภาวะคอขวดหรือสภาวะขาดแคลนที่เกิดจากภัยธรรมชาติ โรคระบาดหรือการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งในกรณีนี้ แม้ในความจริงคือความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการขนส่งวัตถุดิบเสี่ยงไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของชาติ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็สนับสนุนให้ผู้ประกอบการหันมาอาศัยห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ
แนวโน้มเหล่านี้ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและรัฐบาลต่างต้องประเมินความเสี่ยงในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ แนวโน้มทั้งสามนี้ปรากฏชัดในนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในเอเชีย โดยเฉพาะใน Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ เพื่อคานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้ เช่นเดียวกับนโยบาย Trans-Pacific Partnership แต่ก็ไม่มีประเด็นเรื่องการเข้าถึงตลาดเลย
ด้วยวิธีเจรจาของสหรัฐฯที่เน้น ‘นโยบายการค้าเพื่อผู้ใช้แรงงาน’ ประเทศในเอเชียคงหวังประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมได้ยาก เพราะการเจรจาจะเน้นในประเด็นเรื่องกฎ ระเบียบ มาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมรวมถึงระเบียบปฏิบัติอื่นๆ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่สหรัฐฯ เรียกร้องนั้นล้วนมีต้นทุนทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมืองต่อประเทศต่างๆ เหล่านั้น ทำให้ส่วนใหญ่ของการเจรจาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้านัก แต่กลับไปสอดคล้องกับแนวโน้มสามแนวทางดังกล่าวของสหรัฐฯ ทั้งในเรื่อง การฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทาน ความร่วมมือ การแบ่งปันข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน การลดการปล่อยคาร์บอน ภาษีและการต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงแทน
ประเด็นการเจรจาที่จะคุยกับสหรัฐฯ ได้ยากที่สุดจะเป็นเรื่องการค้า คู่เจรจาในเอเชียจะต้องเผชิญกับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯที่รับได้ยากและไร้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม (จุดประสงค์หลักของรัฐบาลสหรัฐฯ ในแต่ยุคแต่ละสมัยก็เพื่อต้องการให้ต้นทุนการผลิตในแต่ละประเทศทั่วโลกมีความใกล้เคียงกันมากที่สุด เพื่อที่จะทำให้สินค้าที่สหรัฐฯ ผลิตสามารถแข่งขั้นได้ในตลาดโลก
ในสหรัฐฯ เองรัฐบาลไบเดนก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีนโยบายด้านเศรษฐกิจในเอเชียเลย นโยบายที่รัฐบาลกำลังจะนำเสนอก็จะเข้าสู่ภาวะที่กลืนไม่เข้า คายก็ไม่ออก เพราะในขณะที่ชุมชนธุรกิจต้องการให้เปิดตลาดแต่ฝ่ายซ้ายของพรรคเดโมแครทไม่อยากให้สหรัฐฯ ไปตกร่อปล่องชิ้นกับชาติอื่นจนสภาคองเกรสไม่สามารถวางนโยบายใหม่ๆ ในอนาคตได้ การที่สหรัฐฯ ปฏิเสธมติของ WTO เมื่อเห็นว่าตนเสียเปรียบทำให้ประชาคมโลกกังขาในท่าทีของสหรัฐฯ ในการเคารพต่อข้อตกลงระหว่างประเทศและย่อมทำให้สหรัฐฯ หมดความน่าเชื่อถือหากสหรัฐฯ จะชี้นิ้วว่าประเทศอื่นใดทำผิด ภาพพจน์การเป็นป้อมปราการพิทักษ์กฎของสหรัฐฯ ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา อาจมีความเสี่ยงที่จะแปรไปเป็นผู้ทำลายกฎรายสำคัญแทน
และหากประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม IPEF เริ่มสงสัยในความมุ่งมั่นที่จะขยายฐานการค้าและความเคารพต่อข้อตกลงระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ก็จะเกิด 2 สิ่งขึ้น นั่นคือ การเจรจาในกรอบของ IPEF จะมีข้อสรุปได้อย่างยากลำบาก และนานาชาติจะทุ่มเวลาและทรัพยากรให้กับกรอบการเจรจาความตกลงอื่นๆ เช่น RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) และ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) แทน ซึ่งจะไม่ใช่กรอบการเจรจาที่จะเอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และอิทธิพลจีนที่จะเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชียก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ด้วย