It is a long established fact that a reader will be distracted by the readable content of a page when looking at its layout.
ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นวิดีโอแชท Snapchat ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ร่วมกับ Foresight Factory บริษัทวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค ได้ทำการศึกษาแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกปี 2565 ใน 12 ประเทศ (รวมถึงอิตาลีด้วย) โดยได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่จะนำมาสู่การกำหนดภูมิทัศน์ใหม่ของธุรกิจค้าปลีกในปี 2565 กล่าวคือ สถานการณ์การค้าปลีกในอนาคตจะถูกกำหนดด้วยความต้องการของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งการที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อระบบด้วยสมาร์ทโฟนได้มากขึ้นก็ยิ่งส่งผลให้สามารถกำหนดทิศทางการซื้อสินค้าได้ทั้งจากที่บ้านหรือจากในร้านค้า โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้สำหรับการค้าปลีกไม่ว่าจะเป็นกระจกอัจฉริยะ (Smart Mirror) เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (Augmented Reality-AR) และเทคโนโลยีการปรับแต่งผลิตภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual product customization) ซึ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้แล้ว แต่ยังถือเป็นเครื่องมือในการช่วยค้นหาตัวเลือกที่ดีที่สุด เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด หรือแม้แต่ช่วยทำให้การช้อปปิ้งเป็นประสบการณ์ทางสังคมมากขึ้น โดยชาวอิตาเลียนพยายามสร้างการเชื่อมต่อใหม่ระหว่างโลกออฟไลน์กับความสะดวกของโลกออนไลน์ ดังนั้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในธุรกิจค้าปลีกในอนาคต ผู้ค้าปลีกจะต้องประเมินถึงทางเลือกของเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายและตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการซื้อสินค้าในอนาคต โดยทิศทางของธุรกิจการค้าปลีกของอิตาลี ปี 2565 ที่สำคัญ มีดังนี้
1.การหันมาช้อปปิ้งในร้านค้าเพิ่มขึ้น แต่การช้อปปิ้ง E-commerce ก็ยังคงเติบโตต่อไป จากข้อมูลของ Snapchat พบว่า ชาวอิตาเลียนมากกว่าครึ่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 57% ของชาวอิตาลีทั้งหมด ยอมรับว่าตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด – 19 รู้สึกคิดถึงการซื้อสินค้าในร้านค้า ดังนั้น ในปี 2565 คาดว่าผู้บริโภคชาวอิตาเลียนจะหันไปซื้อสินค้าในร้านค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้พบปะผู้คน ได้รับคำแนะนำจากพนักงานที่มีความรู้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนก็ยังไม่หันหลังให้กับความสะดวกและความปลอดภัยของการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ E-commerce มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในอีก 1 ปีข้างหน้า เห็นได้จาก 1 ใน 3 ของผู้บริโภคชาวอิตาเลียนกลุ่ม Generation Y (Gen Y) หรือคิดเป็นสัดส่วน 31% ยืนยันว่าจะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นในปี 2565 แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าแฟชั่นสัดส่วน 34% ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายจะมีสัดส่วน 28% และสินค้าอาหารมีสัดส่วน 9%
2. เทคโนโลยีเสมือนจริงจะนำผู้บริโภคกลับไปสู่ร้านค้า โดยแนวทางการช้อปปิ้งแบบ Virtual และ AR ที่ให้รูปแบบความเป็นส่วนตัวสูงและความสะดวกสบายในร้านค้า ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจผู้บริโภคชาวอิตาเลียน และเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเยี่ยมชมร้านค้า โดยสัดส่วน 37% ของผู้บริโภคชาวอิตาเลียนยืนยันว่าจะไปที่ร้านค้าหากมีบริการเสมือนจริงแบบโต้ตอบอย่างน้อยหนึ่งบริการ เช่น กระจกอัจฉริยะที่ให้ลองเสื้อผ้า หน้าจออัจฉริยะที่สามารถปรับแต่งผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีที่ช่วยให้ลูกค้าได้เห็นภาพสิ่งของหากจัดอยู่ในบ้านจริง ๆ ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสและกระตุ้นการซื้อสินค้าในร้านค้ามากขึ้น ผู้ประกอบการค้าปลีกในอิตาลีควรให้ความสำคัญกับการลงทุนของเทคโนโลยีที่สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า พฤติกรรมการซื้อ และประเภทผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าสนใจ
3. เทคโนโลยีมือถือจะเชื่อมโยงแบรนด์และผู้บริโภคตลอดเส้นทางการซื้อ โดยสมาร์ทโฟนถือมีบทบาทสำคัญในการช้อปปิ้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งออนไลน์และในร้านค้า โดยผู้บริโภคชาวอิตาเลียนเกือบ 1 ใน 3 หรือคิดเป็นสัดส่วน 31% ใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือในการซื้อสินค้า โดยเป็นกลุ่มผู้บริโภค Gen Y มีสัดส่วน 46% และกลุ่มผู้บริโภค Gen Z มีสัดส่วน 43% นอกจากนี้ เกือบ 1 ใน 5 ของชาวอิตาเลียนใช้มือถือในร้านค้าเกือบทุกครั้งเพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค Gen Z มีสัดส่วน 30% และกลุ่มผู้บริโภค Gen Y มีสัดส่วน 26% ดังนั้น สมาร์ทโฟนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่ Omni Channel ที่ผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยงโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์ผสานเข้าหากัน ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์เดียวกันแบบไร้รอยต่อ
4. การลองสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะช่วยส่งเสริม E-commerce และลดการคืนสินค้า ถึงแม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา E-commerce ในอิตาลีมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ยังพบว่ายังคงมีอุปสรรคต่อการซื้อสินค้าในวงกว้าง โดยมากกว่า 2 ใน 5 หรือคิดเป็นมีสัดส่วน 42% ของชาวอิตาเลียน ไม่สามารถลองสินค้าก่อนซื้อได้ ดังนั้น การนำเทคโนโลยี/นวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ การลองสินค้า (AR) ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์จากบ้านก่อนตัดสินใจซื้อทางออนไลน์ โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2564 การนำเทคโนโลยี AR มาใช้ สามารถหลีกเลี่ยงการคืนสินค้าได้ถึง 37% ของเสื้อผ้าที่ซื้อทางออนไลน์ ดังนั้น จากประโยชน์ของการใช้ AR คาดว่า ในปี 2565 ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนราว 24% จะเพิ่มการใช้งานแบบเสมือนจริง ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ค้าปลีกที่จะสามารถนำเสนอการขายได้ทันที
5. เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (AR) จะได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีAR ได้เข้ามามีบทบาทในการซื้อสินค้าของชาวอิตาเลียน โดยสัดส่วน 13% ของผู้บริโภคชาวอิตาเลียนได้ใช้ AR ในการซื้อสินค้า ในขณะที่ผู้บริโภคอีก 56% จะสนับสนุนการซื้อสินค้าบางรายการ โดยปี 2565 จะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่จะนำไปสู่ ปี 2568 ที่จะมีกลุ่มผู้บริโภค Gen Z มากกว่า 1 ใน 4 หรือคิดเป็นสัดส่วน 18% ของกลุ่มผู้บริโภค Gen Z ทั้งหมด ได้ใช้ AR ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า โดยกลุ่มผู้บริโภคสินค้าแฟชั่นและความงามจะลองสินค้าด้วย AR มากที่สุด ดังนั้น การใช้ AR ใน E-commerce จะช่วยให้ผู้ค้าปลีกได้เปรียบในการแข่งขัน และจะมีรายได้ที่มากขึ้น
6. ผู้ค้าปลีกต้องเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจเสมือนจริงของ NFT (Non-Fungible Token) ปัจจุบัน Virtual มีความเสมือนจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากสัดส่วน 56% ของผู้บริโภคในอิตาลีที่มีการพิจารณาซื้อผลิตภัณฑ์เสมือนจริงเพิ่มขึ้น บ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจเสมือนจริงในทศวรรษหน้า ถึงแม้ว่าในอิตาลีความรู้เกี่ยวกับ NFT ยังไม่แพร่หลายมากนักแต่พบว่าเริ่มมีผู้บริโภคให้ความสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากงานศิลปะก็เป็นกลุ่มสินค้าเสมือนจริงที่สามารถทำให้ผู้บริโภคเป็นเจ้าของผลงานที่มีเอกลักษณ์นั้นได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการมีอยู่จริงของผลงาน ซึ่งสามารถเติมเต็มความต้องการเฉพาะตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภค Gen Z ที่มีสัดส่วนราว 31%
7. แพลตฟอร์มรีเซลล์ทางเลือกของการนำกลับมาใช้ใหม่ ปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกมองเห็นถึงโอกาสว่าการค้าปลีกสีเขียวกำลังขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นในโลกออนไลน์ เห็นได้จาก 4 ใน 10 ของผู้บริโภคชาวอิตาเลียนซื้อผลิตภัณฑ์ใช้แล้วผ่านแพลตฟอร์มรีเซลล์ ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกที่มีศักยภาพและเหมาะสมกับแนวทางการตลาดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยแพลตฟอร์มรีเซลล์จะดึงดูดผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวก การค้นหาสินค้าที่ขายหมดในที่อื่น และการค้นหาสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยพบว่า แพลตฟอร์มรีเซลล์เป็นทางเลือกที่เข้ากันได้ดีกับแนวทางของผู้บริโภคชาว อิตาเลียน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนสัดส่วน 51% หันมาสนับสนุนการซื้อสินค้าใช้แล้วจากท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในอิตาลี
ความคิดเห็น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน มีความเห็นว่า ต่อจากนี้รูปแบบการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีกในรูปแบบดั้งเดิมที่เคยเป็นเพียงจุดที่ลูกค้าเดินเข้ามาทดลองและซื้อสินค้าจะเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคได้หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีความสะดวก และสามารถสั่งซื้อสินค้าได้จากทั่วทุกมุมโลกเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2565 คาดว่า ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกในอิตาลีจะมีการปรับกลยุทธ์ตลาดค้าปลีกให้มีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ และสามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวก สร้างประสบการณ์ที่ดี และสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า เนื่องจากปัจจุบันอำนาจต่อรองได้อยู่ในมือของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ภาคธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ จึงต้องเลือก กลยุทธ์เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อสินค้าของตน โดยปัจจุบันพบว่า ธุรกิจค้าปลีกในอิตาลีส่วนใหญ่ได้เริ่มมีการปรับตัวไปสู่ร้านค้าที่มีลักษณะ Omni channel เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจค้าปลีกในปี 2565 จะนำพาช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ผสมผสานเข้าหากันได้อย่างลงตัว ซึ่งผู้ประกอบการไทยเองก็ต้องปรับตัวให้ทันตามกระแสเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามความก้าวล้ำของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในปัจจุบันและอนาคต
ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน (กุมภาพันธ์ 2565)
www.youmark.it
_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e
#DITP #OMD2 #สพต2