คาดการณ์ว่าในปี 2022 สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม จะทวีอิทธิพลต่อการใช้จ่ายและการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในสหรัฐฯ มากขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจมีอิทธิพลแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุและสถานที่อยู่อาศัย มีรายงานว่าผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่มีความรู้สึกต่อสถานะทางการเงินในปี 2022 ในแง่ดีมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่ม Millennials, Gen X, และ Baby Boomers คนอเมริกันที่อยู่อาศัยบนฝั่งตะวันตกมีมุมมองที่ดีต่อเศรษฐกิจมากที่สุด รองลงมาคือ คนที่อยู่ทางตอนใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกตอนกลาง อย่างไรก็ดี คนอเมริกันส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะสร้างหนี้สินน้อยลง มุ่งอดออมและลงทุนมากขึ้น หนึ่งในมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายคือการลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน เพิ่มการทำอาหารรับประทานเองบ่อยครั้งขึ้น  

การเมือง สังคม และ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหา Climate Change ความเสมอภาคในสังคม ความรับผิดชอบต่อสังคม การปฏิบัติต่อแรงงาน (สิทธิมนุษยชน ค่าจ้างแรงงานที่ยุติธรรม) และกฎหมาย/กฎระเบียบต่าง ๆ ของภาครัฐที่บริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ จะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการให้ความสนใจกับสินค้าที่มุ่งเน้นความยั่งยืน (Sustainability) โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ซึ่งจากการสำรวจพบว่า Sustainability เป็นเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้า มากกว่าลักษณะ/ราคาสินค้า ทัศนคติที่ให้ความสำคัญต่อ Sustainability ของคนอเมริกันจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดในสินค้าแฟชั่น และการเติบโตของการค้าปลีกการขายสินค้าแฟชั่นมือสอง/ธุรกิจให้เช่าสินค้าแฟชั่น เช่น บริษัท The RealReal, Poshmark, Depop และ Rent the Runway เป็นต้น

วิกฤต COVID-19 ยังคงดำเนินต่อไปและจะเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อพฤติกรรมการบริโภคและรูปแบบการค้าดังนี้

  • จะส่งผลกระทบทางลบต่อสถานะทางการเงินของผู้บริโภคส่วนใหญ่ จากการสูญเสียรายได้จากธุรกิจ การจ้างงาน และ   เงินช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐบาลที่ไม่มีให้อีกต่อไป
  • เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าจากธรรมชาติ สินค้าออร์แกนิค สินค้า plant-based สินค้าและอุปกรณ์ออกกำลังกายต่าง ๆ เป็นต้น
  • ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของการซื้อสินค้าออนไลน์ ระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดที่ลดลง การ re-open ธุรกิจ และความเบื่อหน่ายต่อการใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านเป็นเวลานาน จะทำให้ผู้บริโภคออกไปซื้อหาสินค้าในร้านค้าปลีกเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน กลายเป็นพฤติกรรมผสมผสานการซื้อสินค้า 2 ช่องทาง ซึ่งหมายถึงการเติบโตของการค้าปลีกในรูป Omnichannel
  • พฤติกรรม “stay home” จะยังคงอยู่ต่อไป ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงที่จะทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน ซ่อมแซมสิ่งต่าง ๆ ในบ้านด้วยตนเอง และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการตกแต่งบ้านหรือหาความบันเทิงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสื่อดิจิทัลต่าง ๆ
  • การเติบโตอย่างมากของธุรกิจบริการจัดส่งสินค้าตรงถึงผู้รับ ทำให้ผู้บริโภคคาดหวังบริการจัดส่งสินค้าทุกชนิดจากธุรกิจค้าปลีก การจัดส่งอย่างรวดเร็วและการจัดส่งฟรีจึงเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้า

วิกฤต COVID-19 มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายสินค้าด้วยเช่นกัน

  • มีรายงานว่าวิกฤต COVID-19 และอัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนอเมริกันจำนวนมาก นักการตลาดค้นพบว่าในช่วงเวลานี้ อารมณ์ขันและความบันเทิง เป็นวิธีการสื่อสารที่จะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากที่สุด รองลงมาคือการสื่อสารที่สร้างแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจ การสื่อสารที่เป็นการให้ความรู้  กระตุ้นความคิดและความท้าทาย และการทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกที่ดี ๆ ต่อตนเอง
  • การทำการตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคที่บ้านกำลังได้รับความนิยมสูง เช่น การทำ live streaming โดย influencer, celebrities และ hosts การใช้ Virtual Reality หรือ Augmented Reality หรือการกระตุ้นการขายในร้านค้าด้วย     การสร้างสรรค์ specialty stores ขึ้นภายในร้านค้า หรือการจัดทำการส่งเสริมการขายให้เฉพาะแก่ผู้ซื้อสินค้าในร้าน เป็นต้น

ข้อคิดเห็น

  1. การให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติต่อแรงงาน และความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ กลายเป็นเครื่องมือที่กลุ่ม/องค์กรต่าง ๆ นำมาโจมตีภาคธุรกิจต่าง ๆ และโน้มน้าวผู้บริโภคให้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวโดยการยกเลิกไม่สนับสนุนสินค้า/บริการของธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติตาม ดังนั้น เงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติต่อแรงงาน และความรับผิดชอบต่อสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อภาพลักษณ์ของสินค้า
  2. สินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าจากธรรมชาติ สินค้าออร์แกนิค สินค้า plant-based สินค้าและอุปกรณ์ออกกำลังกายต่าง ๆ     ของตกแต่งบ้าน สินค้าและอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมแซมบ้าน สินค้าที่ตอบสนองต่อพฤติกรรม Do-It-Yourself (DIY) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เกมส์ ตลอดจน meal-kit ที่อำนวยความสะดวกในการทำอาหารรับประทานที่บ้าน จะยังคงเป็นสินค้าศักยภาพที่เป็นที่ต้องการของตลาดต่อเนื่องในปี 2022
  3. ปัจจุบันการทำการตลาดผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย/สื่อดิจิทัลมีค่าใช้จ่ายต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูง ผู้ประกอบการไทยเลือกใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อเจาะกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมาย กระตุ้นความต้องการสินค้าของตนที่มีวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ หรือในตลาดต่างประเทศอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการขายในรูปแบบอื่น ๆ ร่วมกับห้าง/ร้านค้าปลีก จะช่วยเสริมความต้องการสินค้าไทย
  4. ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดมายังสหรัฐฯ อาจพิจารณาใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ อาทิ Amazon.com, Etsy.com (สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น), Wayfair.com (เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน) เป็นจุดเริ่มต้น

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส (ธันวาคม 2564)
Fairtrade America: “2021 GlobeScan: Fairtrade & the Sustainable Shopper”, July 27, 2021
Digital Information World: “The 2022 American Consumer: Digital Marketing Trends to Watch”,
Bankrate: “Survey: 2 in 3 see no boost in personal finances in 2022”, by Karen Bennett, December 20, 2021
French American Chamber of Commerce: “Consumer Trends in the United States and Abroad”, November 24, 2021

_______________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2