It is a long established fact that a reader will be distracted by the readable content of a page when looking at its layout.
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา ประสบความสำเร็จในการจับคู่ธุรกิจสินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นสินค้าไทยชนิดแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) โดยสหภาพยุโรป โดยผู้ผลิตของไทยและผู้นำเข้าในประเทศออสเตรียได้บรรลุข้อตกลงการสั่งซื้อสินค้าล็อตแรกเป็นที่เรียบร้อยและคาดว่าสินค้าจะสามารถเข้าสู่ตลาดออสเตรียได้ในช่วงกลางปีนี้ สนองนโยบายการสร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าเกษตรของไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงพาณิชย์ และนโยบาย “เซลส์แมนประเทศ” ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) หวังสร้างโมเดลในการยกระดับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และสินค้าจีไออื่นๆ ของไทย เป็นสินค้าตลาดบนและจำหน่ายในราคา พรีเมี่ยมในตลาดต่างประเทศ
ตลาดยุโรปนิยมและพร้อมจ่ายเงินเพิ่มสำหรับสินค้าที่มีจุดขายพิเศษ อาทิ สินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นกระแสที่เติบโตต่อเนื่องตลอดช่วงที่ผ่านมา แต่ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคในยุโรปยังให้ความสำคัญกับความพิเศษเฉพาะของสินค้าที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่น ทั้งในแง่ของคุณภาพ ชื่อเสียง และเรื่องราวที่มาที่ไปที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญา ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้ยั่งยืน เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือจีไอ ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนสินค้าของตน ทั้งนี้ นอกเหนือจากจุดมุ่งหมายในการคุ้มครองผู้ผลิตและผู้บริโภคแล้ว เครื่องหมายจีไอยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเครื่องหมายจีไอของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอในสหภาพยุโรปแล้วทั้งสิ้น 4 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง
ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับการผลักดันจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาจนกระทั่งได้ขึ้นทะเบียนจีไอในสหภาพยุโรปเมื่อปี 2556 แต่นับจากนั้นยังไม่มีการทำตลาดสินค้าชนิดนี้ในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่ประทับตราจีไอสหภาพยุโรปจะได้เปิดประตูสู่การค้าในตลาดโลกอย่างแท้จริง ประเดิมที่ประเทศออสเตรียเป็นที่แรก ภายใต้ความพยายามของ สคต. เวียนนา ควบคู่ไปกับความพยายามดั้งเดิมในการส่งเสริมภาพลักษณ์และความสามารถในการแข่งขันของข้าวหอมมะลิไทย โดยอาศัยเครื่องหมายข้าวหอมมะลิไทยของกรมการค้าต่างประเทศ (ตรารวงข้าว) เพื่อต่อสู้กับข้าวหอมจากประเทศอื่นๆ ซึ่งเข้าตีตลาดออสเตรียและยุโรปอย่างต่อเนื่อง การประกบคู่มาตรฐานทั้งสองนี้ในการทำการตลาดช่วยให้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นจากผู้นำเข้า ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเช่นเดียวกัน เนื่องจากสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าได้รับข้าวหอมมะลิไทยแท้จากแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลก
สินค้ารายแรกที่ประสบความสำเร็จในการจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าออสเตรียและขึ้นแท่นสินค้านำร่องในครั้งนี้คือข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ตราศรีแสงดาวจากจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีครบทั้งเครื่องหมายรวงข้าวของกรมการค้าต่างประเทศและเครื่องหมายจีไอของสหภาพยุโรป มีความพร้อมทั้งตัวสินค้า บรรจุภัณฑ์ซึ่งได้รับรางวัล DEmark ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และรางวัลระดับโลกอย่าง Red Dot Design Award ตลอดจนมีศักยภาพในการส่งออกสินค้า ยิ่งไปกว่านั้น ข้าวศรีแสงดาวยังมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ โดยเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างโรงสีศรีแสงดาวกับชาวนาในพื้นที่ ซึ่งมีการนำนวัตกรรมนาหยอดเข้ามาใช้แทนการทำนาแบบเดิมๆ ได้มีการศึกษาและพัฒนาร่วมกันจนกระทั่งสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตอย่างได้ผลดียิ่ง ส่งผลให้ชาวนามีผลกำไรมากขึ้น ขณะนี้มีการจับคู่ธุรกิจข้าวศรีแสงดาวกับผู้นำเข้าออสเตรียแล้ว 3 ราย ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งวัตถุดิบแก่ร้านอาหารในประเทศออสเตรียซึ่งมีแผนการขยายการค้าไปยังภูมิภาคยุโรปตะวันออก ธุรกิจค้าปลีกระดับซูเปอร์พรีเมี่ยมซึ่งมีเครือข่ายทั่วประเทศ และแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ซึ่งมีฐานลูกค้าตลาดบนทั่วยุโรป สำหรับกลุ่มแรกจะมีการส่งมอบสินค้าในช่วงกลางปีนี้ และสองกลุ่มหลังกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาทางธุรกิจ
นางสาวอรอนุช ผดุงวิถี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา เปิดเผยเบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ว่าเกิดจากการทุ่มเทความพยายามในการเจรจา ผลักดัน และช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนการประสานผลประโยชน์ของทุกฝ่ายให้ลงตัวอย่างดีที่สุด กล่าวคือ ผู้บริโภคได้ข้าวชั้นเลิศในราคาที่พร้อมจ่าย ผู้นำเข้ามีตลาดรองรับและได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า และที่สำคัญที่สุดคือผู้ผลิตข้าวและชาวนาได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น เป็นธรรม และพึงพอใจ ทั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการปรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมการส่งออกข้าวไทย จากเดิมที่เน้นเชิงปริมาณเป็นหลัก มาชูจุดเด่นเชิงคุณภาพเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความต้องการของตลาดยุโรปซึ่งไม่ได้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก แต่มีแนวโน้มบริโภคข้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและนิยมสินค้าคุณภาพที่มีมาตรฐานสากลเป็นเครื่องรับรอง นอกจากนี้ ยังเป็นก้าวสำคัญของการผลักดันสินค้าเกษตรของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลก และยกระดับให้แข่งขันได้ในราคาที่สูงกว่า ซึ่งหวังว่าก้าวแรกทั้งสองก้าวนี้จะได้รับการขยายผลไปยังสินค้าประเภทอื่นๆ และตลาดอื่นๆ ต่อไป
ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา (เมษายน 2565)
_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e
#DITP #OMD2 #สพต2