กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงและมีวัฒนธรรมการบริโภคที่แพร่หลาย ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของร้านกาแฟทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียที่กาแฟได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม โดยมีร้าน Kopitiam เป็นร้านที่มีสไตล์การบริโภคกาแฟแบบดั้งเดิมของประเทศ แต่ในปัจจุบัน การบริโภคกาแฟเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟพร้อมดื่มและ มีการบริการแบบเร็วทันใจ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป และช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้ชีวิตและทำงานที่บ้าน ส่งผลให้ การบริโภคกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้น


ตลาดกาแฟในมาเลเซียมีการแข่งขันสูงและเติบโตพร้อมกับจำนวนคนรักกาแฟ ในหมู่ชาวมาเลเซีย ผู้ประกอบการจึงต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เช่น การสร้างแบรนด์ออร์แกนิคหรือสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพและเทคนิคการแปรรูปกาแฟ เป็นต้น


ช่องทางการจัดจำหน่ายของกาแฟในมาเลเซีย สินค้ากาแฟส่วนใหญ่จัดจำหน่าย ผ่านห้างค้าปลีกสมัยใหม่ โดยแบ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และแบบออนไลน์โดยมีร้านค้าออนไลน์ เช่น Shopee, Lazada, Tesco Online, Jaya Grocer Online และ Hero Market Online โดยกาแฟสำเร็จรูปและกาแฟพร้อมดื่ม (RTD coffee) มีจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไปและร้านสะดวกซื้อ ส่วนกาแฟสดมีจำหน่ายในร้านกาแฟชื่อดังและร้านสะดวกซื้อบางแห่ง สำหรับช่องทาง E-commerce เป็นช่องทางหลักในการสั่งซื้อสินค้าในช่วงการแพร่ระบาด ของโควิด-19 และมีการเพิ่มปริมาณการจัดจำหน่ายสินค้าบริโภคผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้น


มาเลเซียมีข้อกำหนดในการนำเข้ากาแฟ เพื่อป้องกันการนำโรคต่างถิ่นเข้าสู่ประเทศ ข้อกำหนดประกอบด้วยการคัดเกรด การบรรจุภัณฑ์ และการติดฉลาก หรือที่เรียกว่า GPL Regulations ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกผลผลิตทางการเกษตรต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวก่อนนำผลผลิตวางตลาดในมาเลเซีย ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2563-2565 มาเลเซียมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากอินโดนีเซียมากที่สุด ตามด้วยเวียดนามและอินเดีย
ผู้ประกอบการไทยสามารถหาผู้นำเข้าหรือช่องทางกระจายสินค้าที่เหมาะสมได้จาก การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารระดับนานาชาติในประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยควรให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าแก่ผู้บริโภค เนื่องจากสังคมออนไลน์ในปัจจุบันมีอิทธิลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในมาเลเซียเป็นอย่างมาก และสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีช่องทางตลาดอยู่แล้ว ควรมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์การส่งเสริมการตลาดกับผู้นำเข้าและการกระจายสินค้าเพื่อกระตุ้นความต้องการสินค้าไทย


นอกจากนี้ ช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้การบริโภคกาแฟของผู้บริโภคได้ ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้ากาแฟ เพื่อสุขภาพ และอีกหนึ่งข้อท้าทายสำหรับผู้ประกอบการคือการวางราคาให้เหมาะสมกับผู้ซื้อชาวมาเลเซีย ที่มีความอ่อนไหวในเรื่องค่าใช้จ่าย เนื่องจากเศรษฐกิจในมาเลเซีย ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กัวลาลัมเปอร์ รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าได้ที่ https://ditip-overseas.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กัวลาลัมเปอร์