เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ผู้แทนรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศกรีซ บัลแกเรีย โรมาเนีย และฮังการี ได้แก่ DESFA Bulgartransgaz FGSZ และ SNTGN Transgaz ตามลำดับ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding หรือ MoU) ณ การประชุม World LNG Summit & Awardsกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และแถลงร่วมกันว่า ทั้งสี่ประเทศเห็นพ้องกันที่จะร่วมกันลงทุนยกระดับขีดความสามารถของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas Pipeline Network) ภายในระยะเวลาสามปี และอาจพิจารณาขยายเวลากรอบการดำเนินงานออกไปอีกได้

โครงการพัฒนาโครงข่ายท่อลำเลียงก๊าซธรรมชาติ Vertical Gas Corridor ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 เพื่อกระจายแหล่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติของประเทศสมาชิก โดยได้ออกแบบระบบท่อส่งก๊าซเป็นระบบ Bidirectional หรือลำเลียงก๊าซได้สองทิศทาง กล่าวคือ ก๊าซธรรมชาติจะถูกส่งออกจากต้นทาง คือกรีซ ไปยังประเทศปลายทางในทวีปยุโรป ผ่านบัลแกเรีย โรมาเนีย และฮังการี และประเทศปลายทางก็สามารถลำเลียงก๊าซกลับเข้ามาเพื่อส่งออกไปทางกรีซ ผ่านประเทศสมาชิกอีกสามประเทศได้เช่นกัน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและความสามารถของระบบขนส่งก๊าซในแต่ละประเทศที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต 


รูปภาพที่ 1: แผนผังโครงข่ายโครงการท่อลำเลียงก๊าซธรรมชาติ Vertical Gas Corridor
ที่มาของข้อมูล: Energynomics

ในขณะเดียวกัน ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติระหว่างกรีซและบัลแกเรีย (The Interconnector Greece-Bulgaria หรือ IGB) ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาแถลงในการประชุมครั้งนี้เช่นกันว่า หลังโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit หรือ FSRU) ณ เมือง Alexandroupolis ประเทศกรีซสร้างเสร็จภายในปี 2566 ท่อส่งก๊าซ IGB จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถขนส่งก๊าซธรรมชาติจากเดิม 3 พันล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เป็น 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เพื่อรองรับความต้องการใช้งานก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี 

ข้อคิดเห็น

หลังจากที่รัสเซียระงับการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังบางประเทศในทวีปยุโรปช่วงไตรมาสที่ 2/2565 ประเทศต่างๆ จึงเร่งหาแหล่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติอื่นทดแทน ประกอบกับดำเนินความร่วมมือด้านพลังงานทางเลือกมากขึ้น เพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงานของตน โครงการทั้งสองข้างต้นจึงมีความสำคัญในแง่ของการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการกระจายแหล่งพลังงานของประเทศในภูมิภาคยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะสงครามและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะส่งเสริมให้กรีซก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานพลังงานของสหภาพยุโรป เนื่องจากกรีซมีแหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจำนวนมากในน่านน้ำของตน ดังนั้น การร่วมมือพัฒนาการเชื่อมโยงทางพลังงานกับกรีซจึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเลือกพิจารณา 

ในกรณีของบัลแกเรีย โรมาเนีย และฮังการี นั้น โรมาเนียถือว่าพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้พอสมควร มีแหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในน่านน้ำของตนเอง ทว่ายังต้องนำเข้าพลังงานส่วนหนึ่งเนื่องจากปริมาณการบริโภคพลังงานในประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ในขณะที่บัลแกเรียและฮังการียังต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอยู่มาก โครงการดังกล่าวจึงอาจช่วยให้บัลแกเรียและฮังการีลดสัดส่วนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียลงได้ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของสหภาพยุโรปที่จะกดดันรัสเซียด้วยการลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย อันเป็นหนึ่งในรายได้หลักของรัสเซีย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จึงคาดการณ์ว่าการเปิดใช้โครงการท่อส่งก๊าซดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เข้าร่วมโครงการทั้งสองโครงการข้างต้น เนื่องจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากภายในสหภาพยุโรปเองจะช่วยลดต้นทุนราคาพลังงานของสินค้าและบริการภายในประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การบรรเทาปัญหาดภาวะเงินเฟ้อในประเทศสมาชิกได้ ทั้งนี้ ราคาพลังงานที่ลดลงไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนจากเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย และกำลังซื้อของผู้บริโภคจากราคาสินค้าและบริการด้วย อันจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในอนาคต
https://www.reuters.com/business/energy/greece-bulgaria-romania-hungary-agree-boost-gas-grid-interconnections-2022-12-01