ปัจจุบัน แนวโน้มการเดินทางสัญจรของชาวอิตาเลียนกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รูปแบบ Smart Mobility มากขึ้น หรือกล่าวคือโลกแห่งการเดินทางที่ก้าวไปสู่รูปแบบที่ยั่งยืนมากขึ้น ทั้งการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่าย และช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยหนึ่งในแนวโน้มรูปแบบการเดินทางดังกล่าว คือ Sharing Mobility หรือรูปแบบการเช่าแบบแบ่งปันยานพาหนะร่วมกันสำหรับการเดินทางระยะสั้น ซึ่งในอิตาลีมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ที่ผู้คนไม่ต้องการสัญจรรถสาธารณะร่วมกับผู้อื่น การช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการซื้อรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จึงทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้ากลับมาเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามของรัสเซียและยูเครน ได้จูงใจให้ชาวอิตาเลียนใช้บริการขนส่งแบบแบ่งปันมากขึ้นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยรายงานจาก Repubblica แสดงให้เห็นว่าการบริการ สู่ Car Sharing เพิ่มขึ้นอย่างมากในระดับประเทศ ขณะที่การใช้รถส่วนตัวในเมืองมิลานลดลง 11% ในเดือนมีนาคม แม้ว่ารัฐบาลจะได้มีการออกกฎหมายปรับลดราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ยังคงเป็นมาตรการชั่วคราวเพียง 30 วัน ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์นี้อาจทำให้ชาวอิตาเลียนพิจารณาเรื่องการเดินทางใหม่ที่เอื้อการใช้งานมากขึ้น โดยเน้นระบบไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

ทั้งนี้ จากรายงานการประชุมว่าด้วยเรื่อง Sharing Mobility ในระดับชาติครั้งที่ 5 แสดงให้เห็นว่า ในปี 2564 การเดินทางรูปแบบ Sharing หรือการแบ่งปันยานพาหนะร่วมกันผ่านการเช่า ได้กลับมาเติบโตอีกครั้งในระดับเดียวกับก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 โดยการสมัครบริการในอิตาลีอยู่ที่กว่า 5 ล้านราย และการให้บริการกว่า 158 บริษัทใน 49 เมือง (สูงกว่าปี 2558 ถึงสามเท่า) หรือเท่ากับชาวอิตาเลียนประมาณ 15 ล้านคนที่ใช้รูปแบบการเดินทางด้วยพาหนะร่วมกันกว่า 90,000 คัน แนวโน้มในเชิงบวกดังกล่าวยังแสดงให้เห็นในรายงาน Smart & Connected Car ซึ่งจัดทำโดย School of Management del Politecnico di Milano ยืนยันแนวโน้มการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นโดย 39% ของชาวอิตาเลียนเคยใช้บริการอย่างน้อย 1 ครั้ง          

แนวโน้มดังกล่าวยังสอดคล้องกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าในอิตาลี โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ www.opportunityenergy.org แสดงให้เห็นว่า ในปี 2564 การจำหน่ายรถยนต์ระบบ plug-in ไฮบริดเติบโตขึ้นถึง 29% ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับความนิยมสูงในการจำหน่ายรายเดือนในอิตาลี โดยรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี (BEV) เติบโตจากปี 2563 ถึงหนึ่งเท่า มาอยู่ที่ 67,000 คัน ส่วนแบ่งตลาด 4.6% (เพิ่มจาก 2.3% ในปี 2563) ขณะที่รถยนต์รูปแบบ PHEV มีการจดทะเบียนใหม่ 69,000 คัน ส่วนแบ่งตลาด 4.7% ซึ่งการเติบโตแซงหน้ารูปแบบ BEV เป็นครั้งแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกระตุ้นการผลิตของผู้ผลิตและความต้องการของตลาด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบ plug-in มีการจดทะเบียนใหม่เกือบ 137,000 คัน ส่วนแบ่งตลาด 9.3% (เพิ่มขึ้นจาก 4.3% ในปี 2563)

กระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าของชาวอิตาเลียน กอรปกับนโยบายภาครัฐและท้องถิ่นเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทผู้ให้บริการ Car Sharing หันมาเลือกใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้ามากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ประเภทดังกล่าวโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ แต่เป็นที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มนี้จะเติบโตขึ้นในเมืองขนาดกลางและเล็กในอนาคต ซึ่งหลายเทศบาลท้องถิ่นได้เปิดให้บริษัทเอกชนแข่งขันประกวดราคาเพื่อการบริการมากขึ้น  

ทั้งนี้ ตัวอย่างบริษัทการให้บริการ Car Sharing ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ E-VAI ในเมืองมิลาน เปิดตัวในมีนาคมที่ผ่านมา เสนอการให้บริการด้วยรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบในเมืองมิลานและการเชื่อมต่อกับเมืองหลักอื่นๆ ในแคว้นลอมบาร์เดีย โดยมีการติดตั้งสถานีรับส่งรถตามจุดสถานที่สำคัญต่างๆ โครงการ Elec3City เป็นโครงการที่เปิดตัวที่มิลานในต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยบริษัท Volvo Car มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดก๊าซ CO2 อย่างน้อย 30 ตันต่อปี โดยเป็นบริการให้พื้นที่ Porta Nuova ซึ่งเป็นตัวอย่างและสัญลักษณ์ในโลกในด้านนวัตกรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการใช้ชีวิตในเมือง บริษัท Corrente เสนอ Car Sharing รถยนต์ไฟฟ้าในแคว้น Emilia-Romagna บริษัท Sharengo ในกรุงโรม 4USMobile ในแคว้น Puglia บริษัท LeasysGO ที่เริ่มต้นในเมืองตูรินและกำลังขยายเข้าสู่เมืองอื่นๆ และบริษัท Amicar ในเมืองเนเปิลส์ที่ได้รับการสนับสนุนจากวิสาหกิจเพื่อสังคม Gesco เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่อาจยังเป็นปัญหาสำหรับการให้บริการ Car Sharing ด้วยรถยนต์ระบบไฟฟ้าในอิตาลีคือ โครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จไฟที่เหมาะสมยังคงไม่ทั่วถึง และที่จอดรถสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะเพื่อรับประกันความสะดวกสบายของผู้ใช้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ให้บริการต้องปรับปรุง ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถวางแผนการเดินทางและหันมาใช้บริการ Car Sharing ด้วยรถยนต์ระบบไฟฟ้ามากขึ้นในอิตาลี                         

ความคิดเห็นของ สคต.

จากทิศทางแนวโน้มความนิยมบริการ Car Sharing และรถยนต์ระบบไฟฟ้าของชาวอิตาเลียน จะส่งผลในเชิงบวกต่อผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรมีการปรับตัวและดำเนินกลยุทธ์เพื่อรับมือและพัฒนาธุรกิจให้สามาถตอบรับทิศทางดังกล่าวและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยการติดตามข้อมูลแนวโน้มตลาด การศึกษานวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ การพัฒนาสินค้าเพื่อขยายฐานตลาดและลดความเสี่ยงจากการผลิตชิ้นส่วนแบบเดียว รวมถึงการหาผู้ร่วมทุนในการพัฒนาสินค้ากับบริษัทต่างชาติเพื่อขยายตลาดการส่งออกและโอกาสในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน (เมษายน 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2